สาเหตุผู้สูงอายุกลืนลำบาก ทำให้เกิดการสำลักอาหาร เสี่ยงเสียชีวิต
ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุถึงสาเหตุการสำลักอาหาร เกิดได้จากหลายปัจจัย
1.ความผิดพลาดอุบัติเหตุในจังหวะการกลืน เช่น การกินอาหารชิ้นใหญ่และค่อนข้างเหนียว การพูดในขณะกินอาหารโดยไม่ทันระวัง การเตรียมอาหารที่ไม่เหมาะกับการกลืนในผู้สูงอายุ การกินรสจัดก็กระตุ้นการสำลัก
2.เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของอายุที่มากขึ้น เริ่มมีปัญหาเรื่องการกลืน เช่น ผู้สูงอายุบางคนที่มีอายุ 75-80 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 เริ่มมีอาการสำลักเล็กน้อย เช่น การจิบน้ำ หรือ การกินอาหารบางอย่างจะมีการไอ การกระแอม หรือการเคี้ยวกลืนรอบเดียวอาจจะไม่ได้ ต้องกลืนหลายครั้ง หรือภาวะด้านโภชนาการถดถอย เช่น น้ำหนักตัวลดลง กล้ามเนื้อลีบลง
3.การมีโรคหรือการเจ็บป่วยเดิมที่ทำให้การกลืนไม่ดี เช่น กล้ามเนื้อการกลืนไม่ดี หลอดอาหารมีปัญหา
ต้องยอมรับว่าผู้สูงอายุ การแบ่งสมาธิทำกิจกรรมพร้อมกันเริ่มถดถอย อาจจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้สำลักอาหาร แต่ชนิดของอาหารและความเผลอเลอก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย
ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
วิธีการสังเกตภาวะการกลืนลำบาก
ศ.นพ.วีรศักดิ์ แนะวิธีสังเกตในผู้สูงอายุเริ่มมีภาวะการกลืนลำบาก คือ เมื่อกินอาหารจะมีการไอหรือการกระแอม กินอาหารจะรู้สึกติดที่คอหอยหรือบริเวณกลางหน้าอก รวมทั้งกินแล้วอาจจะสำลักมีน้ำไหลออกทางปากหรือจมูก การกินอาหารเคี้ยวและกลืนแต่ละคำใช้เวลาการกลืนมากกว่า 1-2 ครั้ง บางคนเคยมีประวัติสำลักลงปอดและเกิดปอดอักเสบติดเชื้อ รวมทั้งน้ำหนักตัวลดลง
การสำลักเล็กน้อย มีผลกระทบต่อโภชนาการ อาจมีผลต่อปอดอักเสบ ถ้าสำลักที่เป็นโรค เช่น มะเร็งทางเดินอาหาร โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคเกี่ยวกับเซลล์ประสาท ทำให้กลืนไม่ค่อยดี บางโรคพบเมื่ออายุเพิ่มขึ้น เช่น กล้ามเนื้อไม่มีแรง อาจสำลัก หรือ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก มีผลกระทบต่อการกลืน
สำลักอาหารต้องเร่งปฐมพยาบาล
ศ.นพ.วีรศักดิ์ ระบุว่า หากเป็นการสำลักอาหารแบบผิดพลาดอุบัติเหตุต้องสังเกตอาการว่าสามารถพูดคุยได้หรือไม่ หากพูดคุยได้ควรให้ดื่มน้ำ หากพูดคุยไม่ได้ต้องสังเกตว่า ผู้ที่สำลักมีอาการกระสับกระส่ายหรือไม่ ซึ่งต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นภายใน 4-5 นาที โดยใช้วิธีเข้าไปที่ด้านหลังของผู้สำลักและใช้มือโอบ
นำมือกดบริเวณใต้อกแล้วดันขึ้น ส่วนการสำลักแล้วเกิดอาการหอบ อาจจะมีเศษอาหารลงปอดหรือมีการติดเชื้อตามมา ต้องรีบไปพบแพทย์ หากเป็นผู้สูงอายุที่สื่อสารไม่ได้ ญาติต้องสังเกตว่ามีอาการเหนื่อยหอบ มีไข้ขึ้น มีการซึมหรือไม่ หลังจากสำลักแล้วกินอาหารได้น้อยลงต้องรีบไปพบแพทย์
ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
การป้องกันการสำลักในผู้สูงอายุ
ศ.นพ.วีรศักดิ์ ระบุว่า ผู้สูงอายุบางคนอาจจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือ บางคนอาจมีภาวะสมองเสื่อม มีความเข้าใจ จังหวะการกิน การเคี้ยว-กลืนที่เปลี่ยนแปลงไปเริ่มเคี้ยวและกลืนไม่เป็น ผู้สูงอายุบางคนต้องป้อนอาหาร
การป้อนอาหารนั้นผู้สูงอายุต้องรู้สึกตัว ไม่ควรป้อนหรือกินอาหาร ในช่วงที่มีอาการซึมหรือผู้สูงอายุมีอารมณ์หงุดหงิด อีกแนวทางการป้องกันการสำลักควรจัดท่าทางผู้สูงอายุให้ศีรษะสูง จัดอาหารชนิดที่กลืนง่าย อาหารที่นิ่ม ไม่เหนียวเกินไปและควรเป็นชิ้นเล็กไม่แข็งเกินไป หากมีปัญหาเรื่องการกลืน ต้องทำอาหารข้นเป็นเนื้อเดียวกัน
การตื่นดี การร่วมมือในการกินอาหาร ไม่ให้ผู้สูงอายุแบ่งแยกสมาธิในจังหวะที่กิน ชวนคุยเพิ่มความเพลิดเพลิน ก็ทำให้เกิดการสำลักขึ้นได้
ศ.นพ.วีรศักดิ์ ระบุว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุที่มารักษาภาวะการกลืนลำบากเพิ่มจำนวนขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนมีอายุยืนเป็นสังคมผู้สูงอายุ มีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น รวมทั้งญาติหรือผู้ป่วยมีความพยายามค้นหาข้อมูลเบื้องต้นและไปพบแพทย์ก่อนจะแสดงอาการชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่มักพบอาการมากจึงไปพบแพทย์
รายงาน : วิภา ปิ่นแก้ว ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส
อ่านข่าวอื่นๆ
โยก 4 นายตำรวจ รักษาการ ผกก.- สว.กก. 2 บก.ทล.
นายกฯ ยืนยัน "แค่ทางเลือก" ไม่บังคับจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 งวด
"พิธา" ติดอันดับ 100 ผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต นิตยสารไทม์
ไทยพีบีเอส ถ่ายทอดสดกีฬา “เอเชียนเกมส์ 2022” (ครั้งที่ 19) เช็กโปรแกรมแข่ง ทีมชาติไทย ที่นี่!