วันนี้ (12 ก.ย.2566) นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล กล่าวในที่ประชุมสภาในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหา PM2.5 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่มีนโยบายเป็นรูปธรรม พร้อมเสนอแก้ปัญหาทั้งโครงสร้างด้วยโมเดลตึก 5 ชั้น โดยชี้ว่าเหมือนเป็นเครื่องฟอกอากาศแก้ฝุ่นควันให้กับประเทศไทย
นายภัทรพงษ์ ระบุว่า ตึกจะมั่นคงได้ ฐานรากต้องแน่น เปรียบเป็นข้อกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยรัฐธรรมนูญต้องระบุให้ชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิและคุณภาพชีวิตประชาชนในด้านสิ่งแวดล้อม ให้สิทธิกับประชาชนในการฟ้องร้องหน่วยงานที่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางตรงและทางอ้อม ออกพระราชบัญญัติฝุ่นควันในประเทศและฝุ่นควันข้ามแดน กำหนดบทลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ชัดเจนและบังคับใช้ได้จริง
ขณะที่ประเทศไทยมีข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน แต่ไม่เคยนำมาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งในข้อตกลงระบุไว้ชัดเจนว่าสามารถจัดตั้งศูนย์ประสานงานหมอกควันข้ามแดนระหว่างประเทศได้ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะเป็นผู้นำในการจัดตั้งศูนย์นี้ที่ศูนย์กลางปัญหาที่ภาคเหนือของไทย หากทำอย่างจริงจังก็จะเป็นกุญแจดอกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาให้ยั่งยืนได้
เสนอโมเดลตึก 5 ชั้น แก้ปัญหาทั้งโครงสร้าง
ส่วนชั้นที่ 1 ของโมเดลตึก 5 ชั้น เป็นระบบสาธารณสุข รัฐต้องจัดการระบบสวัสดิการเชิงรุกในการตรวจโรคมะเร็งปอดและโรคทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องให้กับประชาชนในภาคเหนือ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากพบอัตราผู้ป่วยมะเร็งปอดสูงสุดในประเทศที่ภาคเหนือ
แต่น่าผิดหวังมาก เพราะ รมว.สาธารณสุข ที่เป็นคนเหนือ แต่ไม่เห็นประเด็นนี้ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล
ชั้นที่ 2 การจัดการพื้นที่การเกษตร ต้องมีมาตรการจัดการและลดการเผาของเกษตรกร และจัดให้มีกองทุนช่วยเหลือการแปรรูปเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ซังข้าว ซังข้าวโพด ซากอ้อย มาแปรรูปเป็นสินค้าชนิดใหม่ ซึ่งถือเป็นการจัดการในประเทศ ส่วนการจัดการนอกประเทศ รัฐต้องห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากการเผาทุกชนิด รวมถึงปิดช่องโหว่ทางกฎหมายทั้งหมด เพราะเป็นต้นเหตุที่ทำให้จุดความร้อนเพิ่มมากขึ้นและเพิ่มปริมาณค่าฝุ่น PM2.5
ชั้นที่ 3 การบริหารจัดการไฟป่า รัฐต้องกระจายงบฯ ให้ท้องถิ่นที่ประสบปัญหาไฟป่าซ้ำซาก เพื่อให้เพียงพอวางแผนและรับมือ เช่น การใช้เทคโนโลยีติดตามการทำแนวกันไฟ แต่ขณะนี้ท้องถิ่นขาดงบฯ ด้านบุคลากรและอุปกรณ์ ฉะนั้นเรื่องที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยแทบไม่ต้องพูดถึง นโยบายห้ามเผาไม่มีประสิทธิภาพ ซ้ำแล้วยังทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นไปอีก ดังนั้นรัฐต้องวางแผนจำเพาะเจาะจงในพื้นที่ไฟป่าขนาดใหญ่และไฟป่าซ้ำซาก
ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล
นายภัทรพงษ์ ยกตัวอย่างวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ดอยสุเทพ-ปุย พื้นที่ 257 ตารางกิโลเมตร พบจุดฮอตสปอร์ต 33 จุด แต่มีเจ้าหน้าที่พร้อมอาสาเพียง 150 คน ส่วนภาคประชาชนใน จ.เชียงใหม่ มีความเข้มแข็ง แต่ก็ไม่เคยได้รับมาตรการเชิงรุกใดๆ จากรัฐบาล
ดังนั้น หากรัฐจ่ายงบฯ ให้กับท้องถิ่นเพียงพอ จะไม่ช่วยแค่บุคลากรและอุปกรณ์เท่านั้น แต่ท้องถิ่นยังสามารถจัดทำศูนย์บัญชาการจัดการไฟป่าประจำตำบลได้ด้วย
ชั้นที่ 4 ระบบการจัดเก็บข้อมูลและการแจ้งเตือน นอกจากจะใช้ข้อมูลจุดความร้อนแล้ว ควรมีการใช้ภาพร่องรอยการเผาไหม้ เพื่อให้สามารถวางแผนป้องกันไฟได้ รวมถึงพัฒนาระบบการแจ้งเตือนเฉพาะที่ผ่าน SMS เหมือนในต่างประเทศ
ส่วนชั้นที่ 5 ศูนย์บัญชาการ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการกระจายอำนาจ ให้นายก อปท.ที่รู้จักพื้นที่และสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เป็นผู้นำในการบริหารจัดการ โดยผู้นำที่มีปอดอยู่ที่เชียงใหม่ ไม่ใช่อยู่ที่กรุงเทพ หรืออยู่ในห้องแอร์ที่มีเครื่องฟอกอากาศ นอกจากนี้ต้องกำหนดเป้าหมายในปี 2567 ให้ชัดเจน เช่น การกำหนดค่า PM2.5 เป็นต้น
นายภัทรพงษ์ ฝากคำถามทิ้งท้ายไปถึงนายกฯ และคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา 1 ทั้งเรื่องนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น การบังคับใช้กฎหมายหมอกควันข้ามแดนกับกลุ่มนายทุน จำนวนงบประมาณที่จะกระจายให้กับท้องถิ่น นโยบายด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับผลกระทบจากฝุ่น การจัดการกับสินค้าเกษตรนำเข้าที่มาจากการเผา รวมถึงแผนจัดการไฟป่าและปัญหาฝุ่นที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 เดือนข้างหน้า เป็นต้น
อ่านข่าวอื่นๆ
ประท้วงวุ่น! ก้าวไกล-เพื่อไทยปมนายกฯ ส้มหล่น
"กัณวีร์" จี้ รมว.กลาโหม แจงปมทหารเมียนมารุกล้ำชายแดนไทย
รัฐบาลลุยพักหนี้เกษตรกร ชง ครม. พรุ่งนี้ ตั้งเป้าทำให้ได้ไตรมาส 4
"ก้าวไกล" ใส่ชุดไรเดอร์ทวงค่าแรงกลางสภา "หมอพรทิพย์" แชะภาพสว.