ในอนาคตอันใกล้ หนองคายกำลังจะเป็น Gate Way ประตูสู่การท่องเที่ยวที่จะเชื่อมภาคเหนือ กลาง ตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งจะมีคลื่นมหาชนจากจีนตอนใต้ นั่งรถไฟลาว-จีน เข้าสู่หนองคาย
เปลี่ยนเมืองผ่าน เป็นเมืองพัก เพื่อให้หนองคาย ได้รับอานิสงส์จากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนวันละ 3,000 คนที่จะเข้ามา อย่างน้อย เที่ยวหนองคาย 1 วัน นอน 1 คืน กินอาหาร 1 มื้อ ขอให้อยู่บ้านเราก่อน
บัญชา อาศรัยราช ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.หนองคาย ระบุว่า นี่เป็นข้อหารือระหว่าง และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหาร
คำชะโนด
ทำไมถึงมันใจว่านักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาวันละ 3,000 คน
บัญชา ระบุว่า เมื่อเดือนสิงหาคม ผู้บริหารเทนเซ็นต์ ซึ่งเป็นผู้นำด้านไอที อันดับ 1 ของจีน และเป็นเจ้าของ We chat และยังได้รับสัมปทานจากรัฐบาลในการทำวีซ่าให้กับชาวจีน มาสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อลงแพลตฟอร์ใน we chat
จุดแรกๆ ที่พาไปดู ก็คงจะหนีไม่พ้น “เส้นทางสายมู ที่ชาวจีนมีความเชื่อและชื่นชอบ อย่าง “คำชะโนด” อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี
วีระพงษ์ ผาแก้ว นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.หนองคาย เสริมว่า
มูที่ว่า คือมันต้องอะเมซิ่ง เมื่อผู้บริหารเทนเซ็นต์ได้ไปเห็น ก็งงว่า เอ๊ะ เกาะมันลอยได้ยังไง เพราะอยู่กลางน้ำ มีได้ตอกเสาเข็มลงไป หรือทำอะไรจากด่านล่างจนทำให้เกาะมันลอยขึ้นหรือ เราเลยบอกว่า มันเกิดจากธรรมชาติ มันคือความมหัศจรรย์
นอกจากนี้ ยังได้พูดถึงความเชื่อเรื่องบั้งไฟพญานาค ที่เป็นอัตลักษณ์ของหนองคาย ซึ่งก็ได้นำเสนอต่อผู้บริหารเทนเซ็นต์ เกี่ยวกับความเชื่อ “15 ค่ำ เดือน 11”
ซึ่งเขาก็งงอีกว่า บั้งไฟมันคืออะไร มันเหมือนกับพลุหรือเปล่าที่จุดทั่วไป ก็เลยบอกไปว่า มันคล้ายๆ พลุ แต่มันอยู่ในน้ำ และไม่รู้ว่าใครเป็นคนจุดขึ้นมา แต่จะมีเฉพาะช่วงวันออกพรรษา 15 ค่ำเดือน 11 และขึ้นทุกปี
เรื่องนี้ถือเป็นความเชื่อของคนอีสาน ที่ว่าการบั้งไฟพญานาคที่ขึ้นเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ที่ท่านไปเสด็จโปรดพระมารดาลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชาวจีนเลยบอกว่า “คนไทยมีความเชื่อเรื่องสวรรค์ นรก แต่ของบ้านมีพระยูไล และเจ้าแม่กวนอิม
นอกจากเส้นทางสายมูแล้ว สิ่งที่นักท่องเที่ยวจีนชื่นชอบ ก็คือ อาหาร
ซิกเนเจอร์ ที่เขาชอบ ขาดไม่ได้เลยคือ “ส้มตำ” เป็นอาหารหลักเลย คนจีนไม่เคยกินปลาร้า แต่พอได้ลองก็ชอบ อีกอย่างก็คือไข่เจียวใส่ไข่มดแดง เขายังงเลย ว่า เอาไข่ที่อยู่ในรังมาทำเป็นอาหารได้อย่างไร
รวมไปถึง “ก้อยไข่มดแดง” ซึ่งเราก็บอกไปว่ามันจะคล้ายๆ กับสลัด เอาไข่มดแดงมาคลุกเคล้าให้เข้ากับเครื่องเทศของไทย” วีระพงษ์ บอกถึงอาหารอีสานที่ชาวจีนชื่นชอบ
วัดมีชัยท่า อ.เมือง จ.หนองคาย
กลางเดือนนี้ ผู้บริหารจากเทนเซ็นต์ ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวจากจีราว 30 บริษัท ยูทูบเบอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ จะเข้ามาสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยว ทั้งในหนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร หนองบัวลำภู บึงกาฬ มุกดาหาร เพื่อทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมไปถึงเรียนรู้เกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรมของไทย เพื่อให้ถูกต้องตามจารีต ประเพณี เช่น เข้าวัดต้องถอดรองเท้า หรือไม่นุ่งสั้น
ปัจจุบัน ทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.หนองคาย ได้ตั้งศูนย์ประสานงานความร่วมมือไทย-ลาว-จีน เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว และขณะนี้ก็ได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ด้วยการเปิดอบรมหลักสูตรการพูด การสนทนา ภาษาจีน ซึ่งสำนักงานการท่องเที่ยวและการกีฬา และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานเป็นฝึกอบรม ปีละ 1 หลักสูตร
คลื่นคนจีนจะเข้ามา แต่สิ่งที่เราขาด ขณะนี้ คือการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีน ทำยังไงก็ได้ให้คนหนองคาย พูดภาษาจีนได้ ต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ เวลาเจอหน้าก็พูดคุยสื่อสาร บอกราคาซื้อขายได้
บัญชา กล่าวเสริมในเรื่องนี้
พาไปดูเส้นทางสายมู ทัวร์ธรรมะตามความเชื่อของคนหนองคาย ที่เชื่อว่า หากไปไหว้พระวัดดังกล่าวจะหายทุกข์ หายโศก
1.วัดหายโศก ที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง มีความเชื่อว่าใครที่มีเรื่องทุกข์ร้อนใจ เมื่อได้มาเยือนสักการะกราบไหว้ขอพร ก็จะหายทุกข์หายโศก เรื่องร้ายๆ จะผ่านพ้น และไหลไปตามกระแสของแม่น้ำโขง
วัดมีชัยท่า อ.เมือง จ.หนองคาย
2.วัดมีชัยท่า อยู่ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อนักท่องเที่ยวไปไว้พระที่วัดหายโศกแล้ว ก็มาต่อที่วัดน้ำ เพราะเอาฤกษ์เอาชัย มีชัยชนะในทุก ๆ เรื่อง
วัดพระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย
3.พระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ ต.พระธาตุบังพวน อ.เมืองหนองคาย มีตำนานเล่าขานกันมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่า เจดีย์นี้เป็นที่ประทับขององค์พระพุทธเจ้า ตามตำนานเล่าว่า มีปรากฏการณ์ประหลาดเกิดขึ้นหลังจากบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ทำให้มีน้ำที่ออกมาจากพื้นดิน ชาวบ้านเชื่อกันว่า บริเวณนี้เคยเป็นภูเขาพญานาคที่ปกป้องพระธาตุบางพวนเอาไว้ จึงมีการสร้างสระน้ำให้เป็นสระศักดิ์สิทธิ์ของทางจังหวัด และมีการนำน้ำจากสระไปใช้ในงานมงคลต่าง ๆ
รายงาน : มยุรี อัครบาล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส