วันนี้ (4 ก.ย.2566) เวลา 10.30 น. ที่ตึกกองบังคับการปราบปราม ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับกรมศิลปากร แถลงผลการทลายแก๊งนักล่าสมบัติโบราณ โดยมี พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง เป็นประธานในการแถลงข่าว

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า ผู้ต้องหาได้นำโบราณวัตถุไปขายผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ยึดของกลาง 1,000 ชิ้น เครื่องสแกนโลหะ 11 เครื่อง
นอกจากนี้ พบเงินเคลื่อนไหวในบัญชีธนาคารของผู้ต้องหาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลักสิบล้านบาท

พฤติการณ์ขบวนการนี้ คือ นายทศพร นายทศพล และนายศรีออน ลักลอบขุดโบราณวัตถุในพื้นที่หลายจังหวัดภาคเหนือ และ จ.ราชบุรี นำไปขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนอีกกลุ่มเป็นผู้รับซื้อ คือ นายอธิพงศ์ และนายสุชิน โดยตรวจค้น 9 จุด 4 จังหวัด จับกลุ่มได้ 3 คน คือ นายทศพร นายทศพล และนายศรีออน เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2566
เบื้องต้นถูกแจ้งข้อหาเป็นผู้เก็บได้ ซื้อโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ และเบียดบังเอาโบราณวัตถุเป็นของตนเอง และจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า พบการขายโบราณวัตถุผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งผู้ก่อเหตุใช้เครื่องตรวจโลหะในการตรวจค้นโบราณวัตถุใต้ดิน และลักลอบขุดมาขาย

อธิบดีกรมศิลปากร ยกตัวอย่างโบราณวัตถุรูปวัว ทำจากโลหะสำริด อายุ 1,600 ปี ซึ่งบ่งบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การค้าขายของอินเดียกับไทย และรูปช้างสำริด อายุ 500-600 ปี ศิลปะล้านนาโบราณ
วัตถุดังกล่าวมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในการศึกษาแต่ละยุคสมัยว่าในอดีตมีการวิวัฒนาการ การติดต่อสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นมูลค่าที่ประเมินไม่ได้

ราคาที่ไปขายทางออนไลน์ เทียบไม่ได้กับคุณค่าของโบราณวัตถุ และการศึกษา
ขบวนการดังกล่าวถูกล่อซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ล่าสุดจับกุมได้ 3 คน เหลืออีก 2 คน ซึ่งกลุ่มนี้จะนำของมาเก็บไว้ และขายบางส่วนให้พ่อค้า หรือนักสะสมของโบราณ ซึ่งได้ตรวจยึดโบราณวัตถุหลายรายการจากผู้รับซื้อด้วย

สำหรับของกลางที่ตรวจยึดได้ มีทั้งภาชนะดินเผา เข็มสักโบราณ เงินเหรียญลักษณะเกือกม้า 2 ชิ้น และมีตราประทับ เครื่องประดับโบราณ สะท้อนให้เห็นเส้นทางการค้าระหว่างจีนตอนใต้ และอินเดีย

หากผู้ใดพบวัตถุใดที่ผิดปกติ ไม่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน จากการพบในการทำเกษตร หรือตามแหล่งน้ำ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาตรวจสอบ ห้ามนำไปขายต่อ เพราะเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ และหากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นวัตถุโบราณ ผู้ที่พบจะได้เงินราวัลจำนวน 1 ใน 3 ของราคาประเมินอีกด้วย