ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดคุณสมบัติ รมต. "พิชิต ชื่นบาน" เสนาฯ เพื่อไทยได้ดีเพราะพี่ดัน

การเมือง
29 ส.ค. 66
13:45
4,897
Logo Thai PBS
เปิดคุณสมบัติ รมต. "พิชิต ชื่นบาน" เสนาฯ เพื่อไทยได้ดีเพราะพี่ดัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กำลังเป็นที่จับตาและตั้งข้อสังเกตถึงการก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถือว่าพลิกโผในนาทีสุดท้ายของ นายพิชิต ชื่นบาน ทนายความประจำตัว นายทักษิณ ชินวัตร, อดีตประธานที่ปรึกษากฎหมาย พรรคไทยรักษาชาติ หลังจากที่นายกฯ ป้ายแดง เศรษฐา ทวีสิน เอ่ยด้วยตัวเองว่า นายพิชิต มีชื่อในโผ ครม. แทน นายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่คาดว่าจะนั่ง รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย

นายพิชิต ชื่นบาน หรือ "ทนายถุงขนม" เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะคนสนิท นายทักษิณ ชินวัตร เคยทำหน้าที่หัวหน้าทีมทนายความให้นายทักษิณ แต่ต่อมาจากทนายกลายเป็นจำเลยคดีติดสินบนศาล กรณีหิ้วถุงขนมใส่เงินสด 2,000,000 บาท มอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล ขณะที่นายทักษิณต่อสู้คดีที่ดินรัชดาฯ 

หลังถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล ในวันที่ 10 มิ.ย.2551 พร้อมถูกถอดชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเป็นเวลา 5 ปี จากสภาทนายความ

นายพิชิตกลับเข้าสู่ครอบครัวชินวัตรอีกครั้ง ด้วยการเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในปี 2554 และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันจนสุดซอยกับกฎหมายนิรโทษกรรม ต่อมาทำหน้าที่หัวหน้าทีมทนายให้ครอบครัวชินวัตรอีกครั้ง ในคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในปี 2557 

ชื่อของ นายพิชิต ไม่เป็นที่ปรากฏมากมาย กระทั่งล่าสุดติด 1 ใน 10 รายชื่อบุคคลที่เข้าเยี่ยมอาการป่วยของ นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ที่ รพ.ตำรวจ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา และผ่านไปไม่ทันข้ามคืน ก็ปรากฏชื่อของเขาอีกครั้งในโผ ครม. เศรษฐา 1 

เปิดคุณสมบัติ รมต. ที่สังคมคาใจ 

แน่นอนว่าชื่อของ นายพิชิต อาจไม่ค่อยชื่นบานสำหรับหลายคน เพราะสมญานาม "ทนายถุงขนม" สร้างความคลางแคลงใจว่าเข้าลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ 

เมื่อเปิด รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 กำหนดคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรีไว้ดังนี้

  1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
  2. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
  3. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
  4. มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  5. ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
  6. ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
  7. ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท​
  8. ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง

และ มาตรา 98 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

  1. ติดยาเสพติดให้โทษ
  2. เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  3. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ
  4. เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (1) (2) หรือ (4)
  5. อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  6. ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  7. เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  8. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
  9. เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  10. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
  11. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
  12. เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
  13. เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  14. เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
  15. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
  16. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
  17. อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  18. เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม

เมื่อศาลตัดสินจำคุกนายพิชิต 6 เดือน เมื่อปี 2551 ฐานละเมิดคำสั่งศาล ขณะที่ข้อกฎหมายมาตรา 98 ข้อ 7 และ มาตรา 160 ข้อ 7 ระบุชัด จึงสรุปได้ว่า นายพิชิต เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนในการเป็นรัฐมนตรี เพราะรับโทษจำคุกเสร็จสิ้นมานานกว่า 15 ปีแล้ว

ละเมิดอำนาจศาล ไม่ใช่ความผิดอาญา

ยังไม่สิ้นสงสัยเสียทีเดียว เมื่อเห็นว่าหลังจากถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือนเมื่อปี 2551 แต่ต่อมาในปี 2554 กลับพบชื่อ นายพิชิต ติดรายชื่อ สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อไทย เมื่อย้อนกลับไปที่ มาตรา 98 อีกครั้ง พบว่าตั้งแต่ ข้อ 9-11 ไม่มีคำพิพากษาใดที่เข้ากับคำสั่งศาลคดีติดสินบนศาลเลย 

ประกอบกับข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง ระบุว่า ตาม มาตรา 32 และ มาตรา 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การกระทำละเมิดอำนาจศาลเป็นเพียงการกระทำละเมิดต่ออำนาจและหน้าที่ของศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาและรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นมาตราการวิธีสบัญญัติเท่านั้น และการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีแพ่งหรือคดีอาญา หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย ในบริเวณศาลในคดีแพ่งหรือคดีอาญา ก็มิใช่เป็นความผิดในทางอาญาอย่างใด

ฉะนั้น การกระทำละเมิดอำนาจศาลจึงมิใช่ความผิดอาญา แต่เป็นเพียงการละเมิดอำนาจและหน้าที่ของศาลเกี่ยวกับการพิจารณาคดีและการรักษาความเรียบร้อย ซึ่งเป็นอำนาจและหน้าที่พิเศษ โดยเฉพาะของศาลเท่านั้น แต่ที่ต้องมีโทษอยู่ด้วยก็เพื่อให้อำนาจและหน้าที่ของศาลดังกล่าวบรรลุผล 

อีกทั้งมีหลักกฎหมายว่า ผู้กระทำความผิดอาญาจะถูกลงโทษสองครั้งในการกระทำความผิดเดียวกันนั้นอีกมิได้ ถ้าถือว่าการละเมิดศาลเป็นการกระทำความผิดอาญาแล้ว หากศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำการละเมิดอำนาจศาลแล้ว ก็จะฟ้องผู้กระทำการละเมิดอำนาจศาล ให้ถูกลงโทษในการกระทำละเมิดอำนาจศาลนั้นอีกมิได้ เพราะเป็นการกระทำความผิดอาญาที่ผู้กระทำได้รับโทษมาแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ 1142/2516 และ 2302/2523) 

เท่ากับว่าสิ้นข้อสงสัยในทุกข้อครหาคลางแคลงใจในการนั่งตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ของนายพิชิต ชื่นบาน และตอกย้ำด้วยคำสัมภาษณ์จากว่าที่ มท.1 นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ระบุถึงคุณสมบัติ-ข้อห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไว้ว่า

รัฐมนตรีมีคุณสมบัติต้องทุ่มเท ต้องเสียสละ ต้องเป็นคนที่ไม่มีประวัติด่างพร้อยอยู่แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง