ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ราชกิจจาฯ เผยแพร่กฎกระทรวง อนุญาต เขตเมืองการบินตะวันออก สถานบริการเปิดได้ 24 ชม .

การเมือง
26 ส.ค. 66
08:47
2,704
Logo Thai PBS
ราชกิจจาฯ เผยแพร่กฎกระทรวง อนุญาต เขตเมืองการบินตะวันออก สถานบริการเปิดได้ 24 ชม .
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง กำหนดวันเวลาเปิด-ปิดของสถานบริการ ของ กระทรวงมหาดไทย อนุญาต สถานบริการ เขตเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดได้ตลอด 24 ชม.

เมื่อวานนนี้ (26 ส.ค.66) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง กำหนดวันเวลาเปิด ปิด ของสถานบริการ (ฉบับที่ 2) กฎกระทรวง พ.ศ.2566 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 และมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6/1 แห่งกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ.2547 "ข้อ 6/1 สถานบริการตามมาตรา 3 (1) ถึง (5) ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาต ให้ตั้งสถานบริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายกรพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง กำหนด เขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 ให้เปิดทำการได้ ตลอด 24 ชั่วโมง" ให้ไว้ ณ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2566 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

*เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 บัญญัติให้การกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และโดยที่ได้มี การกำหนดเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจพิศษภาคตะวันออก เรื่องกำหนดเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 สมควรกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบิน ภาคตะวันออกให้เปิดทำการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินกิจกรรมของเมืองการบิน
จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้  

ครม.เห็นชอบเมืองการบินภาคตะวันออก 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.66 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการสิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ ซึ่งเรื่องนี้สืบเนื่องจากมติ ครม. เมื่อ 1 มี.ค.65 ที่เห็นชอบโครงการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) พื้นที่รวม 6,500 ไร่ เป็นโครงการตัวอย่างนำร่องด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและไม่ใช่ภาษี และกำหนดให้พื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก (Airport City) จำนวน 1,032 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ EECa เป็นเขตประกอบการค้าเสรี (EECa Free Trade Zone) โดยให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเสมือนพื้นที่นอกประเทศ ซึ่งไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายหลายประการ

พร้อมจัดให้มีกิจกรรมและสันทนาการรองรับการใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เช่น โรงแรม 5 ดาวขึ้นไป ห้างสรรพสินค้าและ Duty Free ร้านอาหารระดับ Michelin Star งานแสดงสินค้าพื้นที่จัดการประชุม บริการความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับสู่การเป็นสนามบินระดับโลกและเป็นศูนย์กลางการบินและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยกรมศุลกากร และได้รับการสนับสนุนมาตรการสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และกำหนดสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นและเหมาะสม

มาตรการสิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ที่ ครม.เห็นชอบในวันนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ

1.กลุ่มผู้ประกอบกิจการในพื้นที่เมืองการบิน รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ คือ (1) ดำเนินกิจกรรมสันทนาการตลอด 24 ชั่วโมง (2) จำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง (3) ตั้งด่านนำเข้าและส่งออกสุราและยาสูบ (4) กำหนดเขตปลอดอากรและจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน (5) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุดไม่เกิน 15 ปี และยกเว้นให้ไม่ต้องนำเงินปันผลจากการประกอบกิจการไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

2.กลุ่มคนทำงาน รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ คือ (1) การผ่อนปรนข้อจำกัดด้านกฎหมายแรงงาน โดยให้คนต่างด้าวสามารถทำงานบางประเภทได้ (2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนสิทธิประโยชน์ที่อยู่ระหว่างการหารือ คือ การปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3.กลุ่มคนเดินทางและนักท่องเที่ยว รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ คือ การยกเว้นภาษีอากรและภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่เมืองการบินในช่วง 10 ปีแรก ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ยังอยู่ระหว่างการหารือ ได้แก่ (1) การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าในพื้นที่ EECa Free Trade Zone รวมไม่เกิน 20,000 บาท/คน/ปี เฉพาะช่วง 10 ปีแรก และ (2) ขยายการยกเว้นภาษีอากรและภาษีสรรพสามิตสำหรับของติดตัวผู้เดินทางระหว่างประเทศขาเข้าให้ครอบคลุมสินค้าที่ซื้อในพื้นที่ EECa Free Trade Zone รวมไม่เกิน 200,000 บาท/คน/ปี เฉพาะช่วง 10 ปีแรก

นอกจากนี้ ที่ประชุมให้ สกพอ.นำความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเพิ่มเติม อาทิ 1) ควรกำหนดการซื้อหรือปริมาณการนำเข้าสุราและยาสูบที่เหมาะสม เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาการลักลอบนำสินค้าออกมาจำหน่ายนอกพื้นที่เมืองการบิน 2) มาตรการด้านเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยในสนามบินที่จะนำมาใช้ ควรต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้า เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย PDPA 3) การกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบกิจการใน EECa ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับที่ BOI ให้การส่งเสริม 4) ควรพิจารณาความจำเป็นในการผ่อนผันข้อจำกัดทางกฎหมายให้คนต่างด้าวสามารถทำงานที่ไทยไม่ได้ขาดแคนหรือขาดทักษะ เช่น งานแกะสลักไม้ งานตัดผม งานเสริมสวย และงานขายของหน้าร้าน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง