ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดรหัสคดี “เนเน่โมเดลลิ่ง” ล่วงละเมิดเด็กชาย ขายภาพข้ามชาติ

อาชญากรรม
21 ส.ค. 66
12:42
1,674
Logo Thai PBS
ถอดรหัสคดี “เนเน่โมเดลลิ่ง” ล่วงละเมิดเด็กชาย ขายภาพข้ามชาติ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

12 กรกฎาคม 2566 ศาลอาญามีคำพิพากษา “จำคุก” 121 ปี 358 เดือน นายดนุเดช แสงแก้ว หรือ “เนเน่ โมเดลลิ่ง” ฐานล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ครอบครองและส่งต่อสื่อลามกอนาจาร โดยมีผู้เสียหายเป็นเด็กผู้ชายที่ยังเรียนอยู่ในระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้นเท่านั้น จำนวน 8 คน

คดีนี้ เป็นผลงานการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่พบการส่งต่อซื้อขายภาพการล่วงละเมิดทางเพศเด็กผู้ชายจากเครือข่ายในต่างประเทศ และพบว่าเป็นภาพที่มาจากประเทศไทย จึงติดตามสืบสวนจนพบความเชื่อมโยงมาจากหลายแหล่ง

กระทั่งมาพบต้นทางการขายภาพ จุดใหญ่มาจากชายคนหนึ่งที่มีอาชีพเป็นโมเดลลิ่ง ชักชวนเด็กเข้าสู่วงการบันเทิงโดยใช้ช่องทางเข้าหาผู้ปกครองเด็กโดยตรง และยังเข้าไปเลือกเด็กผ่านทางโรงเรียนชื่อดังหลายแห่ง โดยที่ผู้ปกครองและครูไม่รู้เลยว่า เด็กผู้ชายเหล่านั้นถูกล่อลวงไปล่วงละเมิดทางเพศด้วย ถูกบันทึกภาพ คลิปวิดีโอ และส่งต่อไปขายผ่าน Dark Web ในต่างประเทศ

“คนร้ายติดต่อเด็กผ่านผู้ปกครองโดยตรง หาเด็กที่เป็นผู้เสียหายโดยติดต่อผ่านโรงเรียนดัง ก่อนจะสามารถเข้าถึงตัวเด็ก สามารถใช้ช่องทางออนไลน์พูดคุยกับเด็กหลังจากนั้น จนกระทั่งมีโอกาสและเวลาที่จะล่วงละเมิดทางเพศเด็ก พร้อมบันทึกภาพ”

เมื่อมีคำพิพากษาแล้ว นี่จึงเป็นคดีใหญ่ที่ควรถูกนำมาตีแผ่ เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้สังคมไทยสามารถป้องกันไม่ให้เรื่องน่าเศร้าเช่นนี้เกิดขึ้นได้อีก เพราะเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้ว ก็ยากที่จะเยียวยาความรู้สึกของเด็กที่ถูกกระทำไปแล้วให้กลับมาเป็นปกติได้

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ DSI ในฐานะหัวหน้าทีมสืบสวนสอบสวนในคดี เปิดเผยเบื้องหน้า-เบื้องหลังคดี โดยหวังให้สังคมไทยตื่นตัวกับภัยร้ายรูปแบบใหม่นี้ เพราะมันอาจเกิดขึ้นได้กับลูกหลานของเราทุกคน โดยที่ผู้ปกครองไม่มีทางรู้เลย

“คนทั่วไปอาจจะมีภาพจำเดิมๆ ว่า การล่วงละเมิดทางเพศเด็กผู้ชาย คงจะไปเกิดขึ้นได้กับเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบางเท่านั้น อย่างในอดีต เด็กเร่ร่อน เด็กที่มีฐานะยากจน เด็กที่อยากว่ายน้ำในสระน้ำดีๆ เด็กที่อยากเล่นเปียโนแต่ไม่โอกาส เคยเป็นช่องว่างที่ทำให้ขบวนการเหล่านี้เข้าหาเด็กได้โดยง่าย"

แต่เมื่อทำคดี เนเน่โมเดลลิ่ง ทำให้ทราบว่า นั่นเป็นสิ่งที่เคยเป็นความจริงเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่ปัจจุบัน คนร้ายกลุ่มนี้เพิ่มเป้าหมายไปสู่เด็กซึ่งมีสถานะทางบ้านค่อนข้างดีเข้าไปด้วย และยังใช้ช่องทางการติดต่อทางออนไลน์เพื่อล่อลวงเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างแยบยล

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ DSI

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ DSI

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ DSI

ร.ต.อ.เขมชาติ ถอดรหัสอันตรายของขบวนการล่วงละเมิดทางเพศเด็กผู้ชาย เพื่อชี้ให้เห็นว่า เด็กที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของขบวนการนี้ในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่เด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบางในสังคมเท่านั้น แต่กลับเป็นเด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวดีต่างหาก ที่กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของคนร้าย

หากจะถอดรหัสเพื่อวิเคราะห์ทั้งสาเหตุและหาแนวทางป้องกันจากคดี ร.ต.อ.เขมชาติ แบ่งออกเป็น 3 ปัจจัย โดยเปรียบเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน นั่นคือ เด็ก ผู้ปกครอง/ครู และประสิทธิภาพของคนร้าย

เด็กไม่เคยเล่าเรื่องการถูกล่วงละเมิด

ร.ต.อ.เขมชาติ บอกว่า หากวิเคราะห์จากอายุของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดในคดี เนเน่โมเดลลิ่ง จะพบว่า เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก ไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่เหมือนในอดีต เด็กที่ถูกล่อลวง ไม่จำเป็นต้องอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวอย่างพัทยาหรือภูเก็ต แต่เป็นเด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง กำลังเรียนอยู่ในระดับชั้นอนุบาลหรือประถมต้นเท่านั้น เป็นเด็กที่ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ และยังไม่ถึงวัยที่จะเริ่มเรียนเรื่องเพศศึกษาด้วยซ้ำ

และนั่นเป็นช่องว่างที่ทำให้คนร้ายสามารถล่อลวงไปล่วงละเมิด ทำอนาจาร ไปจนถึงกระทำชำเรากับเด็กได้โดยที่เด็กไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังถูกกระทำอยู่ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องร่วมกันสร้างองค์ความรู้พื้นฐานให้กับเด็ก โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องให้เด็กวัยนี้เรียนรู้เรื่องเพศ

มากกว่า 70-80% ของเด็กที่เป็นเหยื่อในคดีนี้ ไม่เคยเล่าเรื่องการถูกล่วงละเมิดให้ใครฟัง พ่อแม่หรือครูเองก็เพิ่งรู้หลังจาก DSI เข้าไปจับกุมและได้หลักฐานมา ดังนั้นแม้เราจะยังไม่สามารถสอนเรื่องเพศศึกษาให้กับเด็กในวัยนี้ได้ แต่เราสามารถหาวิธีการสอนให้เด็กรู้ได้ว่า เขาอาจกำลังถูกล่วงละเมิดทางเพศอยู่

“แต่เดิม ในโรงเรียนมีวิธีการสอนให้เด็กส่งเสียงดังทันทีหากมีอะไรผิดปกติ แต่ในความเป็นจริงมีเด็กน้อยมากที่จะรู้สิ่งที่มากระทำกับเขาอยู่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนวิธีการสอน เพื่อสอนให้เด็กรู้ว่า อวัยวะส่วนไหนของร่างกายที่ไม่สามารถปล่อยให้คนอื่นมาแตะต้องได้อย่างเด็ดขาด และอาจทำสื่อการสอนในรูปแบบการ์ตูนมาใช้ เช่น ถ้าต้องถอดเสื้อผ้า แตะอวัยวะในร่มผ้า ก็จะขึ้นเป็นไฟแดงเหมือนสัญญาณไฟจราจร” ร.ต.อ.เขมชาติ กล่าว

คนร้ายเข้าหาเด็กผ่านผู้ปกครอง-ครู

ข้อเท็จจริงที่น่าเป็นกังวลที่สุดในคดีนี้ ซึ่ง ร.ต.อ.เขมชาติ ค้นพบ ก็คือ คนร้ายเข้าหาเด็กที่เป็นเหยื่อผ่านผู้ปกครองและโรงเรียน เพราะคนร้ายมีอาชีพเป็นโมเดลลิ่ง จึงมีข้อเสนอที่จะชักชวนให้เด็กที่เป็นเป้าหมายเข้าสู่วงการบันเทิง ทำให้พ่อแม่ของเด็กเห็นชอบที่จะปล่อยให้เด็กไปอยู่กับคนร้าย

ส่วนโรงเรียนก็อาจจะมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นในฐานะที่มีดาราเด็กเรียนอยู่ เมื่อประกอบ 2 ปัจจัยนี้เข้าไว้ด้วยกัน โรงเรียนจึงกลายเป็นใบเบิกทางให้คนร้ายเข้าถึงตัวเด็กได้อย่างง่ายดาย โดยที่พ่อแม่ไว้วางใจ เพราะเชื่อว่าผ่านการคัดกรองมาจากโรงเรียนแล้ว

“ถ้าดูจากข้อมูลของเด็กที่ล่วงละเมิด เราพบว่า เนเน่ หาเด็กโดยตรงน้อยมาก ช่องทางที่เขาใช้เข้าหาเด็กจริงๆ มี 2 ทาง คือ การติดตามเด็กที่เป็นเป้าหมายและติดต่อไปที่พ่อแม่โดยตรง กับการทำจดหมายเข้าไปขอคัดเลือกเด็กในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จนโรงเรียนกลายเป็นตราประทับความถูกต้องให้กับคนร้าย แถมยังสร้างความไว้วางใจให้กับพ่อแม่ของเด็ก และเมื่อเขาเข้าถึงเด็กโดยตรงได้แล้ว เขาจะติดต่อโดยตรงกับเด็กผ่านโซเชียลมีเดียที่เด็กใช้อยู่”

เดี๋ยวนี้ผู้ปกครองส่วนหนึ่งปล่อยให้เด็กใช้โซเชียลมีเดีย มีแอคเคาท์เป็นของตัวเอง มีความเป็นส่วนตัว เรายังพบด้วยว่า เด็กบางคนที่นอนคนเดียวพร้อมเครื่องมือสื่อสารของเขา ถูกคนร้ายใช้เป็นช่องทางในการล่อลวงในช่วงเวลาที่ผู้ปกครองไม่รับรู้เลย

เจ้าหน้าที่ DSI นำเสนอด้วยว่า สำหรับเด็กเล็กในวัยอนุบาลหรือประถมศึกษาตอนต้น พ่อแม่สามารถใช้แอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Family Duo ซึ่งจะจับคู่เครื่องมือสื่อสารของผู้ปกครองกับเด็กไว้ด้วยกัน ทำให้ผู้ปกครองสามารถรู้ได้ว่า ในช่วงเวลาที่เด็กอยู่คนเดียว เขากำลังเล่นอะไรอยู่ รู้ได้ว่าอยู่ที่ไหน และหากพบสิ่งที่เป็นอันตรายก็สามารถบล็อกได้ในทันที

คนร้ายล้ำหน้าใช้เทคโนโลยีลวง

DSI มีข้อมูลที่ค้นพบจากคดีนี้ว่า คนร้าย มีพฤติกรรมเลือกเด็กที่เป็นเป้าหมายไว้ล่วงหน้าจากการติดตามโซเชียลมีเดีย ซึ่งต่างจากขบวนการล่วงละเมิดทางเพศเด็กผู้ชายในอดีตมาก เพราะมี “เทคโนโลยี” ที่ทำให้คนร้ายสามารถเข้าถึงตัวเด็กได้เอง โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง

“ถ้าย้อนกลับประมาณมากกว่า 15 ปี การที่ขบวนการค้ามนุษย์เด็กผู้ชายจะเข้าถึงตัวเด็กได้ เขาจะต้องใช้คนกลางที่ทำงานในลักษณะเป็นผู้ติดตามเด็กกลุ่มเปราะบาง คล้าย Stalker แต่เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา กลุ่ม Stalker ก็ตกงานหมด เพราะอย่างที่บอกคือ เมื่อคนร้ายติดต่อผ่านผู้ปกครองหรือโรงเรียน เขาก็สามารถใช้เทคโนโลยีติดต่อกับเด็กโดยตรงได้เอง และขบวนการเหล่านี้ยังมีชุมชนของตัวเองที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างดีอีกด้วย”

วิธีการที่คนร้ายใช้เลือกเป้าหมาย จริงๆ แล้วเขาก็ไปติดตามจากโซเชียลมีเดียของผู้ปกครองเด็ก นั่นคือ เขาสามารถเป็น Stalker ได้เอง ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้เขารู้วิถีการใช้ชีวิตของผู้ปกครอง สถานะครอบครัวเป็นอย่างไร ชอบไปที่ไหน รู้ที่อยู่ รู้จักโรงเรียน รู้ไปจนถึงพฤติกรรมต่างๆ ของเด็ก ทำให้สามารถวางแผนในการเข้าหาได้อย่างแนบเนียน

จากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้ง 3 ข้อ ร.ต.อ.เขมชาติ จึงเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องถอดบทเรียนจากคดี “เนเน่โมเดลลิ่ง” ออกมาเผยแพร่ให้สาธารณชนรับรู้ เพื่อสร้างกลไกในการป้องกันให้ลูกหลานของเราอย่างเร่งด่วน ไม่ควรปล่อยให้คดีนี้ผ่านไปโดยที่สังคมไทยรับรู้เพียงแค่ว่า มีคนร้ายที่ล่วงละเมิดทางเพศเด็กชาย ถูกตัดสินจำคุกกว่าร้อยปี

ส่วนในแง่มุมทางกฎหมาย แม้กฎหมายจะมีประสิทธิภาพในการสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดในกรณีเช่นนี้ได้และมีบทลงโทษที่รุนแรง แต่ก็ยังมีปัญหาในการป้องกันการก่อเกิดเหตุอยู่มาก ร.ต.อ.เขมชาติ จึงเสนอให้ต้องมีกฎหมายเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ จำเป็นต้องมีกฎหมายที่สามารถเอาผิดกับบุคคลที่ส่งข้อความในเชิงที่มีโอกาสจะกลายเป็นการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก

“จากที่เราเห็น คนร้ายจะเริ่มต้นด้วยการคุยกับเด็กว่า สนใจเป็นดารามั้ย จากนั้นก็จะชวนมาที่บ้าน ชักชวนให้เด็กเปลื้องผ้าและให้ส่งรูปมา ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อมีข้อความเช่นนี้ก็ควรจะเข้าจับกุมได้แล้ว แต่กฎหมายไทยในปัจจุบันไม่สามารถทำได้จนกว่าเด็กจะส่งรูปมาให้คนร้ายไปแล้ว”

ประเด็นที่สอง คือ จำเป็นต้องเพิ่มอาวุธทางเทคโนโลยีให้เจ้าหน้าที่รัฐ ในการใช้ยุทธวิธีเพื่อติดตามจับกุม

ร.ต.อ.เขมชาติ กล่าวว่า ข้อนี้แบ่งเป็น 2 วิธีการ คือ ควรอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐแฝงตัวเข้าไปใน Dark Web ที่คนร้ายใช้ซื้อขายรูปภาพการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ซึ่งปัจจุบันมีเพียง DSI หน่วยงานเดียวที่มีอำนาจทำได้ หากเป็นคดีพิเศษ แต่มันไม่เพียงพอและเจ้าหน้าที่ DSI ก็ทำได้ไม่ทั่วถึง

ส่วนอีกวิธีการหนึ่ง ดีเอสไอเคยเสนอว่า กฎหมายต้องอนุญาตให้เราสามารถใช้ AI เข้าไปปลอมตัวเป็นเหยื่อเพื่อใช้วิธีการล่อซื้อได้ เพราะจริงๆ แล้ว เรามีข้อมูลของคนร้ายมากพอที่จะระบุตัวตนได้ แต่ไม่มีหลักฐานพอเพื่อใช้ในการจับกุม

และหากเราสามารถปลอมตัวไปในโซเชียลมีเดียได้ก็จะช่วยปกป้องไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อได้อีกมาก ซึ่งกฎหมายเช่นนี้ หลายประเทศในยุโรปเริ่มใช้กันมานานแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง