เรื่องนี้สร้างความผิดหวังให้รัสเซียไม่น้อย เพราะถือเป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบ 47 ปี โดยตั้งเป้าจะส่งยานไปสำรวจบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์
เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2566 ตามเวลาท้องถิ่น สำนักงานอวกาศแห่งชาติของรัสเซีย (Roscosmos) แถลงว่าหลังจากที่ขาดการติดต่อกับยานสำรวจลูนา-25 ที่ใช้ในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ พบว่ายานสำรวจได้พุ่งชนพื้นผิวดวงจันทร์ไปแล้ว โดยก่อนหน้านั้นไม่นาน มีรายงานว่ายานลูนา-25 เผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินในระหว่างที่พยายามจะเข้าสู่วงโคจร ก่อนที่จะลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ และพุ่งชนดวงจันทร์ในเวลาต่อมา
ภารกิจในครั้งนี้ถือเป็นภารกิจส่งยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกของรัสเซียนับตั้งแต่ปี 2519 ตามกำหนดเดิม คาดว่ายานลูนา-25 จะลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ในวันที่ 21 ส.ค. ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อว่าอาจมีน้ำแข็งปกคลุม หลังจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซาพบร่องรอยน้ำแข็งในบริเวณดังกล่าว
ยานอวกาศลูนา-25 จะปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์เป็นเวลา 1 ปี เพื่อเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างดิน รวมทั้งดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในระยะยาว ซึ่งภารกิจของรัสเซียในครั้งนี้ยังถือเป็นการแข่งขันกับอินเดีย ซึ่งส่งยานอวกาศขึ้นสำรวจดวงจันทร์เมื่อเดือนที่แล้วและคาดว่าจะลงจอดในวันพุธที่ 23 ส.ค.นี้
ยานอวกาศ จันทรายาน 3 ของอินเดีย
ปัจจุบันมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่สามารถส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ได้แก่ สหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และจีน โดยในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ชาวอินเดียและชาวโลกจะได้ลุ้นกันอีกครั้ง เนื่องจากยานสำรวจดวงจันทร์ "จันทรายาน 3" ของอินเดีย มีกำหนดจะลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ หากทำสำเร็จอินเดียจะกลายเป็นประเทศแรกที่ส่งยานสำรวจไปลงจอดขั้วใต้ของดวงจันทร์
อ่านข่าวอื่น :
องค์การอวกาศรัสเซีย Roscosmos กำลังเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่
พายุ "ฮิลารี" ทำฝนกระหน่ำ "แคลิฟอร์เนีย" เสี่ยงน้ำท่วมรุนแรง