ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"วันนอร์" เคาะโหวตนายกฯ 22 ส.ค. เล็งถกวิป 3 ฝ่ายปมแสดงวิสัยทัศน์

การเมือง
16 ส.ค. 66
17:09
1,176
Logo Thai PBS
"วันนอร์" เคาะโหวตนายกฯ 22 ส.ค. เล็งถกวิป 3 ฝ่ายปมแสดงวิสัยทัศน์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประธานรัฐสภาเผยนัดวันประชุมโหวตเลือกนายกฯ 22 ส.ค. ชี้ข้อบังคับไม่ได้กำหนดให้แคนดิเดตนายกฯ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ เตรียมหารือวิป 3 ฝ่ายอีกครั้ง

วันนี้ (16 ส.ค.2566) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เปิดเผยถึงวันประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า ถือว่าสิ่งที่รัฐสภาได้ประชุมไปแล้วนั้นสามารถปฏิบัติได้โดยถูกต้อง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ​ ดังนั้นในวันพรุ่งนี้ (17 ส.ค.) เวลา 14.00 น. ฝ่ายกฎหมายจะพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการพิจารณาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป และนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายเพื่อดูในรายละเอียด

เบื้องต้นเคาะวันประชุมโหวตเลือกนายกฯ ใหม่เป็นวันที่ 22 ส.ค. โดยได้หารือกับประธานวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว

สำหรับญัตติของนายรังสิมันต์ โรม ที่ขอให้ทบทวนมติของรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค. ที่ไม่สามารถเสนอชื่อนาย ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำได้นั้น วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ญัตติดังกล่าวก็ยังอยู่ ซึ่งน่าจะมีการหยิบยกเรื่องนี้เข้ามาหารือในที่ประชุม แต่การดำเนินการต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับ

ขณะที่รัฐสภามีหน้าที่จัดการประชุมให้ สส. และ สว.เลือกนายกรัฐมนตรีตามกำหนด โดยจะพยายามทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับและเรียบร้อยมากที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อไป ส่วนการโหวตเลือกนายกฯ จะเสร็จสิ้นในวันที่ 22 ส.ค.หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุม

ส่วนกรณีที่ สว.อยากให้แคนดิเดตนายกฯ แสดงวิสัยทัศน์ในรัฐสภานั้น ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ในข้อบังคับการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ได้กำหนดไว้ว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อตามที่รัฐธรรมนุญกำหนด ต้องแสดงวิสัยทัศน์ด้วย ซึ่งในการเลือกนายกฯ เมื่อปี 2562 มีผู้เสนอ 2 คนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากทั้ง 2 คนไม่ใช่ สส.จึงไม่ได้มาแสดงวิสัยทัศน์ แต่อย่างไรก็ตามจะหารือเรื่องนี้กับฝ่ายกฎหมายอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (17 ส.ค.)

ส่วนตัวไม่สามารถกำหนดได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด ข้อบังคับไม่ได้กำหนด ก็ขึ้นอยู่กับสภาว่าจะเห็นสมควรอย่างไร

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวอีกว่า จากการสอบถามฝ่ายกฎหมายเกี่ยวกับการร่างข้อบังคับในการเลือกนายกฯ เหตุใดจึงไม่ได้กำหนดให้แสดงวิสัยทัศน์เช่นเดียวกับเลือกประธานสภาฯ นั้น

ได้รับการชี้แจงเบื้องต้นว่า เดิมกำหนดว่าจะให้แสดงวิสัยทัศน์ แต่ภายหลังที่ประชุมของผู้ร่างข้อบังคับการเลือกนายกรัฐมนตรีตามข้อบังคับของรัฐสภาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คณะกรรมการได้ตัดออกไป เพราะเห็นว่าอาจจะเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่อยู่ในห้องประชุมของรัฐสภาได้ถูกเสนอชื่อขึ้นมา

ขณะที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดว่าให้เสนอบุคคลภายนอก ดังนั้นที่ประชุมของผู้ร่างฯ จึงมีเจตนารมณ์ว่าไม่ควรมีการแสดงวิสัยทัศน์สำหรับเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะมีการนำข้อกฎหมายนี้เข้าหารือในวิป 3 ฝ่ายด้วย เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและไม่อยากให้มีประเด็นค้างคา หรือทำให้การประชุมยืดเยื้อออกไปโดยไม่จำเป็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

นายกฯ คาดหวังได้รัฐบาลเร็วที่สุด ไม่รู้ทันเดือน ก.ย.นี้ หรือไม่

"อนุทิน" ย้ำถกเก้าอี้ รมต. ให้จบ ก่อนโหวตนายกฯ

"สว.สมชาย" เผย "วันนอร์" หารือไม่เป็นทางการแจ้งโหวตนายกฯ 22 ส.ค.

ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเสนอชื่อ "พิธา" โหวตนายกฯซ้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง