ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เฉลยแล้ว! "ครูกายแก้ว" รูปปั้นติดคานสะพานรัชดา

สังคม
9 ส.ค. 66
13:01
21,848
Logo Thai PBS
เฉลยแล้ว! "ครูกายแก้ว" รูปปั้นติดคานสะพานรัชดา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การจราจรช่วงเช้าที่ ถ.รัชดาภิเษกขาเข้า ต้องเป็นอัมพาตชั่วขณะ รถติดสะสมต่อเนื่องถึงสะพานพระราม 7 จากเหตุรูปปั้น "ครูกายแก้ว" ขนาดใหญ่ ลอดสะพานคนข้ามไม่พ้น เหตุถนนถูกเสริมพื้นสูงจากเหตุน้ำท่วมบ่อย ล่าสุด สน.พหลโยธิน เข้าเคลียร์การจราจรเรียบร้อย

วันนี้ (9 ส.ค.2566) เวลาประมาณ 09.00 น. การจราจรบริเวณ ถ.รัชดาภิเษกขาเข้า ติดขัดยาวสะสมถึงสะพานพระราม 7 เหตุจากรถพ่วงบรรทุกรูปปั้นขนาดใหญ่ ติดคานสะพานลอยคนข้าม ทางจราจร สน.พหลโยธิน เข้าช่วยเหลือโดยให้ปล่อยลมยางและเข้าจอดช่องทางซ้ายสุด

พ.ต.ต.ศรีธกริช พิทักษ์ชนะกิจ สว.จร.สน.พหลโยธิน ระบุว่า เหตุดังกล่าวเริ่มจากรถบรรทุกรูปปั้น "ครูกายแก้ว" มาจากโรงหล่อ จ.ราชบุรี เพื่อไปตั้งยังโรงแรมแห่งหนึ่งที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว คนขับรถขับเข้า กทม. ผ่านทาง ถ.พหลโยธิน เลี้ยวซ้ายแยกรัชดาภิเษก เข้าสู่ ถ.รัชดาภิเษกขาเข้า 

เมื่อถึงจุดเกิดเหตุ บริเวณรัชดาภิเษก 36 พ.ต.ต.ศรีธกริช ตั้งข้อสังเกตว่า เดิมบริเวณนี้มีน้ำท่วมเป็นประจำ จึงมีการเสริมพื้นให้สูงขึ้นเล็กน้อยเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำขัง ทำให้รถคันเกิดเหตุไม่สามารถลอดผ่านสะพานไปได้ เพราะความสูงของรูปปั้นไม่พ้นท้องสะพานซึ่งเหลื่อมไปเพียง 2 ซม.

ต่อมา จราจร สน.พหลโยธิน ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือ โดยให้รถที่บรรทุกรูปปั้นพระกายแก้วเข้าจอดช่องทางซ้าย เพื่อให้รถคันอื่นเคลื่อนตัวได้มากขึ้น ส่วนรถคันเกิดเหตุให้ปล่อยลมยางออกเพื่อให้ลอดผ่านใต้สะพานได้ และทำการเปรียบเทียบปรับข้อหา เดินรถในเวลาห้าม โดยที่รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป ห้ามวิ่งบนทางราบ ในเวลา 06.00-09.00 น. และเวลา 16.00-20.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ

สำหรับเส้นทางเดินทางจาก จ.ราชบุรี เข้าสู่ ถ.รัชดาภิเษก คาดว่า เริ่มต้นจากราชบุรี ถ.บรมราชชนนี เข้า ถ.กาญจนาภิเษก ถ.รัตนธิเบศร์ เข้า ถ.ราชพฤกษ์ ข้ามสะพานพระราม 4 เข้า ถ.แจ้งวัฒนะ วิ่งตรงมาถึงวงเวียนบางเขน เลี้ยวขวา เข้าถ.พหลโยธินขาเข้า เลี้ยวซ้ายแยกรัชโยธิน เข้า ถ.รัชดาภิเษก

ส่วนรูปปั้นขนาดใหญ่บรรทุกหลังรถ ก็เป็นที่โจษจันในโลกโซเชียล ชาวเน็ตหลายคนสุดงง บ้างก็ว่าเป็น เวตาล ตัวละครในวรรณคดี บ้างก็ว่าเป็นแดรกคูลา ไทยพีบีเอสออนไลน์ค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าแท้ที่จริงคือ "ครูกายแก้ว" 

รูปปั้นครูกายแก้ว

รูปปั้นครูกายแก้ว

รูปปั้นครูกายแก้ว

ที่มา-ความเชื่อบูชา "ครูกายแก้ว"

"ครูกายแก้ว" มีรูปร่างลักษณะของผู้บำเพ็ญกึ่งมนุษย์กึ่งนก เล็บยาว ตาแดง มีปีกด้านหลัง มีเขี้ยวสีทองสื่อถึงนกการเวก รูปปั้นองค์ปฐมครูกายแก้วถูกสร้างเป็นไปตามจินตนาการของ อ.สุชาติ รัตนสุข ที่ได้รับองค์ครูขนาดเล็กหน้าตักเพียง 2 นิ้ว จาก อ.ถวิล มิลินทจินดา นักร้องเพลงไทยเดิมของกองดุริยางค์ทหารสมัยก่อน ซึ่งได้รับต่อมาอีกทีจากพระธุดงค์ จ.ลำปาง ที่ไปทำสมาธิที่ปราสาทนครวัดนครธม ประเทศกัมพูชา

ผู้บูชาเชื่อว่า ครูกายแก้วจะช่วยเรื่องความสำเร็จ การค้าขาย เพราะมีลักษณะคล้ายนกการเวก สัตว์จากป่าหิมพานต์ที่มีเสียงไพเราะ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยดึงดูดใจคนที่ได้ยินเสียง ช่วยโน้มน้าวใจ จึงเป็นที่นิยมในหมู่พ่อค้าแม่ขาย

ที่มา : ครูกายแก้ว.com 

อ่านข่าวอื่นๆ :

วันแม่ 2566 : "เรียกแม่สิลูก" รวมคำเรียกชื่อ "แม่" ในภาษาต่างๆ

3 อาการ "พลายศักดิ์สุรินทร์" ขาซ้ายงอตึง-ตาขวาเสี่ยงต้อ-โปรตีนสูงในฉี่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง