วันที่ (26 ก.ค.2566) พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง เปิดเผยยังไม่ได้รับการประสานเรื่องการเดินทางกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แต่หากเข้ามาในไทยและเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้มีการประชุมเตรียมแผนรองรับ ตั้งแต่ลงเครื่องบิน จนถึงการคุมตัวไปศาลฎีกา และเรือนจำ
หลังจากที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า นายทักษิณ จะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ โดยจะโดยสารเครื่องบินมาลงที่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง
อ่านข่าว : "ทักษิณ" กลับไทย 10 ส.ค. "อิ๊งค์" โพสต์อวยพรวันเกิด 74 ปี
โดยก่อนหน้านี้วันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมามีการเผยแพร่เอกสารของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นวาระการประชุมเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ โดยระเบียบวาระการประชุม เกี่ยวกับสถานการณ์การข่าว และวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ภัยคุกคาม รวมทั้งขั้นตอนดำเนินการตามกฎหมาย กรณีที่มีผู้ต้องหาตามหมายจับเดินทางเข้ามาในไทย ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมทั้งการเดินทางเข้ามาทางท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง และสุวรรณภูมิ โดยมีตำรวจสันติบาล และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองรับผิดชอบ
เปิด 6 เส้นทางรับตัวผู้ต้องหา
ส่วนเส้นทางการเดินทางมอบหมายให้กองบังคับการตำรวจจราจรพิจารณาเส้นทางทั้งทางหลักและทางรองรวม 6 เส้นทาง คือ เส้นทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ หรือดอนเมือง มายังศาลฎีกา สนามหลวง เส้นทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ หรือดอนเมือง มายังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมพิเศษ เส้นทางจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด มายังศาลฎีกา และเส้นทางจากศาลฎีกา มายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยจะมีตำรวจ 191 ร่วมรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทาง
พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ ระบุว่า ขณะนี้ทางตำรวจนครบาลยังไม่มีข้อมูล หรือได้รับการประสานเรื่องการเดินทางอย่างเป็นทางการว่าจะเป็นวันไหน อย่างไร สนามบินใด ซึ่งก็ได้ทราบข่าวจากทางสื่อเช่นกัน
แต่ขั้นตอนการดูแลรักษาความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกจะยังใช้วิธีการแบบที่เคยประชุมไว้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา คือ ถ้าอยู่ในเวลาราชการก็จะรับตัวและส่งศาลฎีกาในทันที แต่หากนอกเวลาราชการ ก็จะทำการส่งตัวไว้ที่สถานคุมตัวพิเศษ ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดก่อน และจะคุมตัวไปศาลฎีกาในเวลาราชการ จากนั้นสถานที่สุดท้ายคือนำตัวไปส่งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
และจากการประชุมที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้เตรียมพร้อมพื้นที่ เส้นทางการเดินทางทั้งหลักและรอง เป้าหมายการเดินทางตั้งแต่เริ่มต้นควบคุมตัวที่สนามบินดอนเมือง หรือสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสถานที่ต่างๆ อย่างรัดกุม
อ่านข่าว : ไร้คลื่นรบกวน? “ทักษิณ” ส่งสัญญาณกลับไทย
"ทักษิณ" ถูกออกหมายจับรวม 9 หมายจับ ใน 6 คดี
ขณะที่หมายจับของนายทักษิณ พบว่าเคยถูกออกหมายจับรวม 9 หมายจับ ใน 6 คดี หลังจากหลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งศาลได้พิพากษาลับหลัง และมีคดีที่ สำนักงานป.ป.ช. ไต่ส่วน ก็ไม่ชี้มูลความผิด ซึ่งประกอบไปด้วย
1.คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ ที่ถูกฟ้องว่าอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของเอ็กซิมแบงก์ให้กับรัฐบาลเมียนมา เมื่อปี 2546 วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของเมียนมา เพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียม ที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูลชินวัตร
โดยเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งให้ออกหมายจับเพื่อให้ติดตามตัวมาในนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเนื่องจากนายทักษิณ ไม่มาศาลและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว ก่อนจะอ่านคำพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 และให้ออกหมายจับนำตัวมาบังคับคำพิพากษา รวม 2 หมายจับ
2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว หรือ "หวยบนดิน" เมื่อปี 2546-2549 คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 26 กันยายน 2551 นายทักษิณ ไม่มาศาล ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ และให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของนายทักษิณ เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้นำตัวมาพิจารณาคดี ก่อนจะพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 และให้ออกหมายจับนำตัวมาบังคับคำพิพากษา รวม 2 หมายจับ
3.คดีแปลงสัมปทานมือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2544 - 19 กันยายน 2549 คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 15 ตุลาคม 2551 และศาลได้ออกหมายจับนายทักษิณ เนื่องจากไม่มาศาล และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้เป็นการชั่วคราว และมีการรื้อคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ทำให้นายทักษิณ และพิพากษาจำคุก 5 ปี เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 และออกหมายจับให้มารับโทษตามคำพิพากษา รวม 2 หมายจับ
4.คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้กว่า 9,000 ล้านบาท ให้กับกฤษดามหานคร คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายจับนายทักษิณ เนื่องจากไม่มาตามนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2555 และเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ศาลฏีกาฯ ได้พิพากษายกฟ้องนายทักษิณ พร้อมทั้งเพิกถอนหมายจับในคดีนี้
5.คดีเอื้อประโยชน์ซื้อขายที่ดินรัชดา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี และออกหมายจับเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 เพื่อให้นำตัวมาบังคับตามคำพิพากษา แต่คดีนี้หมดอายุความแล้ว
6.คดีกองทัพบก ยื่นฟ้องนายทักษิณ หมิ่นประมาท กรณีเมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2558 ได้มีการเผยแพร่คำสัมภาษณ์ของนาย ทักษิณ จากประเทศเกาหลีใต้ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งกระทบถึงกองทัพบก คดีนี้ศาลอาญาออกหมายจับนายทักษิณ เนื่องจากไม่มาศาลเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 และจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว หากได้ตัวมาดำเนินคดีแล้วจะขอรื้อคดีขึ้นมาใหม่
อ่านข่าว : "ทักษิณ" ยันอีกไม่กี่วันกลับไทย เชื่อเศรษฐกิจดีขึ้นหลังเพื่อไทยเป็นรัฐบาล
2 คดีที่ ป.ป.ช.ไต่สวน
นอกจากนั้นยังเคยมีคดีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่ไต่สวนอยู่ 2 คดี คือ
1.คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อีก 4 สัญญา สมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือที่เรียกว่าคดีข้าวจีทูจีล็อต 2 โดย ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณเพิ่มเติม โดยกล่าวหาว่านายทักษิณ มีบทบาทและอยู่เบื้องหลังในการสั่งการให้มีโครงการระบายข้าวจีทูจี โดยอ้างหลักฐานเป็นการสนทนาผ่านวีดีโอลิงก์ ที่โรงแรม เอส.ซี.ปาร์ค แต่เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. มีมติไม่ชี้มูลความผิดนายทักษิณ และยกคำร้องไปแล้ว
2.คดีอนุมัติการสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2545-2547 และปี 2554 อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ ไม่คุ้มค่า ทำให้การบินไทยมีหนี้สิ้นเพิ่มขึ้น ป.ป.ช.กล่าวหานายทักษิณ พร้อมพวกรวม 5 คน และล่าสุด ป.ป.ช. มีมติไม่ชี้มูลความผิดนายทักษิณ และยกคำร้องไปแล้วเช่นกัน
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า แม้ว่าคดีต่าง ๆ ของนายทักษิณที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน และบางคดีขาดอายุความฟ้องร้องไปแล้ว แต่เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้วเมื่อช่วงปี 2562 ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 25 ระบุว่า
ในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญนี้เมื่อได้ยื่นฟ้องคดี ต่อศาลแล้ว ให้อายุความสะดุดหยุดลงในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษา ถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ
ทำให้คดีที่ศาลพิพากษาแล้วหลังพ.ร.ป. ฉบับนี้ประกาศใช้ และผู้ต้องหาในคดีหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา คดีก็จะไม่มีหมดอายุความและเมื่อถูกจับตัวมาดำเนินคดีก็จะต้องโทษจำคุกตามที่ศาลได้พิพากษาเอาไว้
คดีที่นายทักษิณ ยังต้องรับโทษนี้มีเหลืออยู่ 3 คดี คือ 1. คดีปล่อยกู้เอกซิมแบงค์ จำคุก 3 ปี 2. คดีหวยบนดิน จำคุก 2 ปี และ 3. คดีแปลงสัมปทานมือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต จำคุก 5 ปี รวมโทษจำคุกทั้ง 3 คดี 10 ปี
ขั้นตอนจับผู้ต้องหา 2 กรณี
ตามขั้นตอนทางกฎหมายกรณีที่ตำรวจจับผู้ต้องหาตามหมายจับได้จะมี 2 กรณี คือ ในกรณีคดีที่ศาลตัดสินแล้วจะมีหมายจับจำเลย เพื่อให้นำตัวมารับโทษตามคำพิพากษา ซึ่งก็จะต้องคุมตัวส่งไปยังศาลที่ออกหมายจับจำเลย
อีกกรณี คือ คดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา หรือ ยังไม่มีคำตัดสิน และผู้ต้องหาหลบหนี ก็จะมีหมายจับผู้ต้องหา เพื่อให้เอาตัวมาดำเนินคดี ซึ่งตามระเบียบแล้ว หมายจับเหล่านี้ศาลจะส่งให้ตำรวจ และตำรวจจะระบุลงในฐานข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นั่นหมายความว่าถ้าผู้ต้องหาเดินทางกลับเข้ามาหรือเดินทางออกนอกประเทศ ข้อมูลหมายจับจะปรากฏขึ้นในฐานข้อมูล สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจึงมีหน้าที่ต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาและนำตัวส่งไปศาล เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามหมายจับที่ศาลออกไว้
ในกรณีเป็นผู้ต้องหาในคดีที่มีคำตัดสินแล้ว เมื่อนำตัวส่งศาลตามหมายจับ ศาลจะออกหมายขังตามโทษจำคุกที่มีอยู่และส่งตัวให้กรมราชทัณฑ์ จากนั้น การคุมขังก็จะเป็นไปตามระเบียบของราชทัณฑ์ ส่วนในกรณีที่คดียังไม่มีคำตัดสิน และคดียังไม่สิ้นอายุความ ผู้ต้องหาจะถูกส่งตัวให้ศาลตามหมายจับ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี
ในกรณีเป็นผู้ต้องหาในคดีที่มีคำตัดสินแล้ว เมื่อนำตัวส่งศาลตามหมายจับ ศาลจะออกหมายขังตามโทษจำคุกที่มีอยู่และส่งตัวให้กรมราชทัณฑ์ จากนั้น การคุมขังก็จะเป็นไปตามระเบียบของราชทัณฑ์ ส่วนในกรณีที่คดียังไม่มีคำตัดสิน และคดียังไม่สิ้นอายุความ ผู้ต้องหาจะถูกส่งตัวให้ศาลตามหมายจับ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ราชทัณฑ์" รับยังไม่ได้ข้อมูลทางการ "ทักษิณ" กลับไทย