วันนี้ (26 ก.ค.2566) นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วยทีมนักธรณีวิทยา ดร.ศิตะ มานิตกุล จากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แถลงข่าวการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ชนิดใหม่ ตัวที่ 13 ของไทยชื่อ "มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส" หรือนักวิ่งตัวจิ๋วแห่งภูน้อย โดยขุดพบที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จ.กาฬสินธุ์
เนื่องจากเป็นฟอสซิลที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดขนาดลำตัวเพียง 60 ซม. และพบชิ้นส่วนสำคัญที่ยืนยันสายพันธุ์ของไดโนเสาร์กลุ่มของนีออร์นิธิสเชียนแรก โดยทีมวิจัยใช้เวลาศึกษานานถึง 5 ปีและเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติยืนยันว่าเป็นชนิดใหม่มีอายุ 150 ล้านปีช่วงจูแรสสิกตอนปลาย
เทียบแหล่งภูน้อย เป็นจูแรสซิกปาร์กเพราะเจอฟอสซิลสำคัญๆ ชนิดใหม่มาแล้ว 7 ชนิดในยุคจูแรสซิก โดยเฉพาะยิ่งมาเจอไดโนเสาร์จิ๋วตัวนี้ทีมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดที่เคยเจอทำให้ปักหมุดว่าเป็นยุคจูแรสซิกและตื่นเต้นในวงการชีววิทยา
ทั้งนี้พื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ มีการประกาศขึ้นทะเบียนคุ้มครองไว้แล้ว ตั้งแต่ปี 2563 รวมพื้นที่ 393 ไร่อายุการวิจัย 99 ปีมีการขุดค้นซากฟอสซิลรวมกว่า 5,000 ชิ้น โดยเฉพาะที่พบมาแล้วเป็น ไดโนเสาร์คอยาวกลุ่มมาเมนชิซอริด ไดโนเสาร์กินเนื้อกลุ่มเมเทรียแคนโทซอริด ไดโนเสาร์หุ้มเกราะกลุ่มสเตโกซอร์ และเทอโรซอร์กลุ่มแรมโฟรินคอยด์
นอกจากนี้ยังพบ 8 ชิ้นส่วนสำคัญที่ติดอันดับหายากในยุคนี้เช่น ฉลามน้ำจืด ปลา เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ไม้กลายเป็นหินและชิ้นส่วนไดโนเสาร์ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยและคาดว่าในพื้นที่แหล่งนี้ถ้าขุดค้นก็ยังต้องเจอฟอสซิลเพิ่ม
ด้าน ดร.ศิตะ มานิตกุล จากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ค้นพบ ไดโนเสาร์จิ๋ว กล่าวว่า มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ที่พบยังมีมีขนาดเล็ก 60 ซม. ยังไม่เป็นตัวเต็มวัย จากกระดูกที่ยังไม่ต่อกันเต็มตัว แต่ถือว่ามีความสมบูรณ์มากเพราะส่วนใหญ่เจอแค่ชิ้นส่วนกระดูก บางชิ้น
ถ้าตัวเต็มวัยจะยาวได้ 2 เมตร แต่กระดูกที่พบเจอยังเป็นตัวเด็ก พบชิ้นส่วนฟันกราม และฟันใบโพธิ์ กระดูกต้นคอ และสะโพกหรือเชิงกรานแบบนก เป็นไดโนเสาร์กินพืช โดยถือเป็นไดโนเสาร์ตัวที่13 ของไทย
นอกจากนี้ จากการค้นพบกระดูกชิ้นส่วนอื่นๆ ในแหล่งภูน้อย บ่งชี้ถึงการกระจายตัว และการศึกษาในเชิงพฤติกรรม และข้อมูลทางบรรพชีวินวิทยาที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งไดโนเสาร์ตัวนี้มีความสำคัญเทียบกับที่เคยพบในจีน ที่เคยพบชิ้นส่วนฟอสซิลไดโนเสาร์กลุ่มนี้
ขณะนี้ทางกาฬสินธุ์ จะยกระดับพื้นที่ผนวกแหล่งอุทยานธรณีกาฬสินธุ์ เพราะการค้นพบเจอมาแล้ว 7 ชนิดที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ และไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่เป็นตัวที่ 13
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
5 ปีกว่าจะเป็น “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส"
"มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส" ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ตัวที่ 13 ของไทย