ผ่านวันโหวตนายกฯ รอบ 2 ไปแล้ว เกมโอเวอร์นายกคนที่ 30 ไม่ใช่ชื่อ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล หมดสิทธิ์แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หลังรัฐสภาใช้เวลาถกนานกว่า 7 ชั่วโมง ปมข้อบังคับ 41 ได้ข้อยุติโหวตซ้ำไม่ได้ ด้วยคะแนน 395 : 312 เสียง
แม้จะมีกระแสข่าว พรรคก้าวไกลเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความข้อบังคับที่ 41 ของประชุมร่วมรัฐสภาว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 หรือไม่
อ่านข่าว : โหวตนายกฯ รอบ 2 : ถก 7 ชั่วโมง โหวตซ้ำ "พิธา" นายกฯ รอบ 2 ไม่ได้
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
ย้อนกลับมามองเสียงสนับสนุนพิธาเป็นนายกฯ ในรอบแรก ได้ทั้งหมด 324 เสียง แต่เมื่อถึงคราต้องลงมติ กรณีการขอให้รัฐสภาตีความข้อบังคับที่ 41 ตามข้อบังคับที่ 151 หรือสามารถเสนอชื่อ พิธา ซ้ำในการโหวตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ได้หรือไม่นั้น เสียงที่หนุนให้เสนอชื่อซ้ำได้ กลับลดลงเหลือ 317 เสียง คะแนนหายไป 7 เสียง
จำนวน 7 เสียงนี้ คือ นายพิธา ที่ต้องเดินออกจากห้องประชุมรัฐสภา หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับวินิจฉัยสมาชิกภาพ สส. จากกรณีถือหุ้นสื่อ ITV พร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย
ส่วน 8 พรรคของพรรคร่วมยังลงมติไปในทางเดียวกัน ยกเว้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ คนเดียวของพรรคเสรีรวมไทย และเป็น 1 ใน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่ไม่ปรากฏการลงมติใดๆ ทั้งสิ้น
อ่านข่าว : กาลเปลี่ยน "เสรีพิศุทธ์" ไม่เคยเปลี่ยน
8 สว. จุดยืนไม่เปลี่ยน
ขณะที่เสียง สว. จากเดิมทีเคยลงมติสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ ในรอบแรก จำนวน 13 เสียง แต่ในการลงมติรอบนี้ เหลืออยู่เพียง 8 เสียงเท่านั้นที่มีจุดยืนไม่เปลี่ยน และยังอยู่เคียงข้างพิธา คือ
1.นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์
2.พล.ต.ท.ณัฏฐวัฒก์ รอดบางยาง
3.นายเฉลา พวงมาลัย
4.นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล
5.นางประภาศรี สุฉันทบุตร
6.นายพิศาล มาณวพัฒน์
7.นายมณเฑียร บุญตัน
8.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์
การประชุมรัฐสภา 19 ก.ค.66
โดย 5 เสียงของ สว. ที่หายไปนั้น คือ
1. นายวันชัย สอนศิริ เห็นด้วย ไม่ควรเสนอชื่อซ้ำ
2. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เห็นด้วย ไม่ควรเสนอชื่อซ้ำ
3. นายอำพล จินดาวัฒนา งดออกเสียง
4. นายพีระศักดิ์ พอจิต งดออกเสียง
5. นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ไม่ได้โหวต
เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา
ท่ามกลางกระแสข่าวไลน์หลุด โดยมีการปล่อยข้อมูลว่า มีการสั่งการในไลน์กลุ่ม สว. ให้งดออกเสียงหนุนนายพิธา ทำให้มีการปฎิเสธจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องกันพัลวัล
นายสมชาย แสวงการ สว.เป็นคนแรกที่ออกมายืนยันว่า ไม่เคยเห็นข้อความจากไลน์ในกลุ่มของ สว. ถึงเรื่องใบสั่งห้ามโหวตพิธา ซึ่ง สว. มีเอกสิทธิ์ส่วนตัว มีการแสดงความเห็น สั่งใครไม่ได้
เช่นเดียวกันนายเสรี สุวรรณภานนท์ ได้ท้าหาคนปล่อยข่าวนี้ เพราะมองว่าเป็นการดิสเครดิต สว. อย่างชัดเจน
อ่านข่าว : สว. ประสานเสียง ปัดไลน์หลุดใบสั่งห้ามโหวตเสนอ "พิธา" รอบ2
วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา
ดูเหมือนว่าทั้งประเด็นศาลรัฐธรรมนูญและตีตกญัตติเสนอชื่อพิธาซ้ำจะทำให้ทุกอย่างสะดุดลง แต่ประธานรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา เดินหน้านัดประชุมเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งถัดไปจะมีในวันที่ 27 ก.ค.นี้
การประชุมรัฐสภา 19 ก.ค.66
สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตอันใกล้นี้ ยังไม่ถึงทางตันเสียทีเดียว เพราะมีข้อเสนอถึง 3 แนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ 8 พรรค กอดกันไปเป็นฝ่ายค้าน , สานฝันประชาชนด้วยการเป็นรัฐบาล มีเพื่อไทยเป็นแกนนำ แต่ต้องยอมกลืนเลือดแยกทางก้าวไกล และทางสุดท้าย ยังรวมกัน 8 พรรคร่วม แต่ต้องคุยกับ สว. และก้าวไกล ในเงื่อนไขที่ยังติดใจ อย่างประเด็นการยกเลิกมาตรา 112
ยังไม่มีใครรู้ว่า หมากเกมนี้จะลงเอยแบบใด ยังคงต้องจับตาท่าทีของทุกฝ่ายต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“อัครเดช” มือสังหาร ดับฝัน “พิธา” นั่งนายกฯ
"สุทิน" วิเคราะห์ 3 แนวทาง โอกาส 8 พรรคตั้งรัฐบาล
"อนุทิน" เผยเพื่อไทยยังไม่ทาบร่วมรัฐบาล ไม่ตอบพร้อมนั่งนายกฯ
โหวตนายกฯ รอบ 2 : "พิธา" เดินออกจากสภา บอกขออำลาจนกว่าจะพบกันใหม่
ด่วน ! ศาลรัฐธรรมนูญ รับวินิจฉัย "ปมหุ้นสื่อ" สั่ง "พิธา" หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.