ตามด้วยดาบ 2 ในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา เมื่อที่ประชุมรัฐสภามีมติโดยเสียงส่วนใหญ่ เห็นว่าการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯ รอบที่ 2 ไม่สามารถทำได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ปี 2563 ข้อ 41 เพราะเป็นการเสนอญัตติซ้ำเดิมจากญัตติที่ถูกตีตกไปแล้ว ในการประชุมรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 1
เป็นความพ่ายแพ้อย่างชอกช้ำ หลังจากพยายามเดินหน้าพร้อม 8 พรรคการเมือง สู่เป้าหมายการตั้งรัฐบาล โดยชูนายพิธาเป็นนายกฯ โดนสกัดตั้งแต่ต้น แม้ว่าด่านหินจะมีอีกหลายชั้นรอกั้นขวางอยู่
ภาพนายพิธา ลุกขึ้นกล่าวอำลาประธานรัฐสภา และเพื่อน ส.ส. หลังจากรับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนจะจับมืออำลา ส.ส.ก่อนเดินโบกมือลาออกจากห้องประชุมรัฐสภา ท่ามกลางเสียงปรบมือให้กำลังใจของสมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่ง ถือเป็นภาพจำและไฮไลท์สำคัญที่เกิดขึ้น ในการประชุมรัฐสภา เมื่อ 19 กรกฎาคม 66
แม้ว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล จะพยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในที่สุด ในระหว่างการประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ที่พวกเขารู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า จะถูกขัดขวางโดยอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 อย่างที่ว่า
นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย มอบภาพวาดให้กับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จนกว่าจะวินิจฉัยกรณีหุ้นไอทีวี เสร็จสิ้น (19 ก.ค.2566)
ท่ามกลางมวลชนที่ให้การสนับสนุนส่วนหนึ่ง ไปปักหลักให้กำลังใจที่หน้ารัฐสภา เรียกร้องให้สมาชิก โดยเฉพาะ ส.ว.ให้เคารพมติประชาชน โดยเลือกนายพิธาจากพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.อันดับ 1 เป็นนายกฯ
ผลพวงจากมติที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ชี้ชัดว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำในรอบที่ 2 ได้ เท่ากับเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ของสมการทางการเมือง ที่จะเดินหน้าต่อ เพื่อให้สามารถมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้ได้
ผลบุญจึงหล่นไปที่พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคอันดับ 2 ที่ประกาศจับมือแน่นเป็นมัดข้าวต้มกับพรรคก้าวไกลมาตั้งแต่ต้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถูกวิพากษ์มาแต่แรกว่า เป็นเพียงการเล่นตามบทที่ต้องเล่นเท่านั้น
ทราบดีอยู่แล้วว่า โอกาสของนายพิธาและพรรคก้าวไกลจะไปถึงฝั่งฝันมีน้อยมาก ถึงอย่างไรก็ไม่อาจฝ่าด่านที่มีหลายชั้นไปได้ เมื่อถึงวันหนึ่ง โอกาสจะต้องตกไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยจนได้
จากนี้ไปพรรคเพื่อไทย จะกลับมาเป็นจุดโฟกัสสำคัญแทนพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะเป็นการตัดสินใจจะเดินหน้าไปต่อ โดยมีพรรคก้าวไกลร่วมขบวนอยู่ด้วย หรือจะสลัดพรรคก้าวไกลออกไปจากสมการการเมือง
หลังจากท่าทีของ ส.ว.ยังแสดงจุดยืนเดิม “ไม่เอาพรรคก้าวไกล” อยู่ดี แม้แต่การอยู่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ส.ว.ก็จะไม่โหวตสนับสนุน เช่นเดียวกับพรรคในขั้วรัฐบาลเดิม อย่างพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศจุดยืนล่าสุดชัดเจนว่า หากพรรคเพื่อไทยยังไม่สลัดพรรคก้าวไกล พรรคก็จะไม่ร่วมตั้งรัฐบาลด้วย
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จนกว่าจะวินิจฉัยกรณีหุ้นไอทีวีเสร็จสิ้น (19 ก.ค.2566)
1 สัปดาห์จากนี้ไป จึงจะเป็นช่วงเวลาสำคัญของการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย เพราะหากเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ดังที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคครอบครัวเพื่อไทย
และอีกหนึ่งแคนดิเดตนายกฯ ให้สัมภาษณ์ไว้ อาจโดนปฏิเสธจากเสียงส่วนใหญ่ในการประชุมโหวตเสียงครั้งหน้า หากยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมด้วย เท่ากับนายเศรษฐาจะ “จอด” ตั้งแต่การเสนอครั้งแรก ไม่มีโอกาสจะเสนอชื่อในรอบที่ 2 ได้
เท่ากับโอกาสของ น.ส.แพทองธาร จะเปิดกว้างมากขึ้น และอาจสะท้อนได้คำตอบว่า นายกฯ “ตัวจริงเสียงจริง” พรรคเพื่อไทย คือใคร
ยังไม่นับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่จะถูกดึงเข้ามาเสียบแทนที่พรรคก้าวไกลจะเป็นพรรคไหน ระหว่างพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย หรือแม้แต่ชาติไทยพัฒนา หรืออาจจะเป็นหลายพรรค ขณะที่รวมไทยสร้างชาติ อาจไม่แคล้วต้องไปเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคก้าวไกล
การเดินหมากของพรรคเพื่อไทยบนกระดานการเมืองต่อไป จึงน่าสนใจติดตามชนิดไม่ควรกระพริบตา
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา