ถ่ายทอดสด โหวตนายกรอบ 2 “พิธา” ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 | 19 ก.ค. 66
วันนี้ (19 ก.ค.2566) การประชุมรัฐสภาวาระโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ยังต้องจับตา โดยวันนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา วางกรอบเวลา 2 ชม.ไว้ เพื่อให้สมาชิกอภิปรายข้อห่วงใยเรื่องข้อบังคับการประชุมที่ 41 ที่ว่าจะสามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เข้าสู่กระบวนการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือเป็นญัตติที่ถูกตีตกแล้วเสนอไม่ได้และอีกฝ่ายเห็นว่าเสนอได้เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติทั่วไป
อ่านข่าว : โหวตนายกฯ รอบ 2 : เริ่มแล้ว! ประชุมสภา 19 ก.ค.โหวตนายกฯ คนที่ 30
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลย้ำว่าจะเสนอชื่อนายพิธา รอบที่ 2 มั่น ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เพราะจะตีความข้อบังคับ ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้
แต่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เห็นต่าง และยืนยันว่าจะคัดค้านการเสนอชื่อนายพิธารอบที่ 2 หลังรัฐสภาตีตกไปแล้ว พร้อมยืนยันจนถึงขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดเรื่องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอก
อ่านข่าว : โหวตนายกฯ รอบ 2 : "วิทยา - วราวุธ" เห็นพ้อง ชี้ "พิธา" ถูกตีตกนั่งนายกฯแล้วไม่ควรเสนอซ้ำ
ส.ว.ยกข้อบังคับประชุมสภา โหวต "พิธา" ซ้ำไม่ได้
ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 ญัตติใดซึ่งตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติขึ้นเสนอซ้ำ เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติ หรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต แต่อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา อาจพิจารณาให้มีการเสนอญัตติดังกล่าวซ้ำได้
จากข้อบังคับนี้ นายสมชาย แสวงการ สว. เห็นว่าการเสนอชื่อพิธาซ้ำทำไม่ได้ หากวันที่ 19 ก.ค. มีการเสนอชื่อญัตติเดิม จะต้องมีการอภิปรายกันว่าดำเนินการไม่ได้ เพราะเกรงว่าขัดต่อกฎหมาย และหากโหวตนายพิธาผ่านก็จะถูกร้องว่าการกระทำนั้นไม่ชอบ
อ่านข่าว : โหวตนายกฯ รอบ 2 : "มณเฑียร" ไม่ออกความเห็น ปมเสนอ "พิธา" รอบ 2 ได้หรือไม่
ข้อบังคับชัดเจนโหวตนายกฯ ไม่เกี่ยวกับญัตติทั่วไป โหวตซ้ำได้
นอกจากนี้ หากย้อนดู ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ส่วนที่ 2 การเสนอญัตติ” ตั้งแต่ข้อ 29 - 41 พบว่า การระบุ ถึงญัตติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับส่วนนี้ประกอบด้วย
- ข้อ 29 ญัตติทั้งหลายที่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานรัฐสภา และต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 10 คน
- ข้อ 30 ญัตติขอให้ประชุมลับ / ญัตติที่เป็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ / ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปของผู้นำฝ่ายค้านฯ / ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ / ญัตติขอให้รัฐสภาเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง / ญัตติที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
- ข้อ 31 ญัตติขอให้รัฐสภามีมติกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา
- ข้อ 32 ญัตติขอให้ปรึกษาหรือพิจารณาเป็นเรื่องด่วน / ขอให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เป็นต้น
ประชุมรัฐสภา โหวตนายกฯ รอบ 2
ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก iLaw ระบุว่า จากญัตติที่ถูกกำหนดในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาจะเห็นว่า ไม่มีการระบุถึงญัตติที่เกี่ยวกับการเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 และมาตรา 272 วรรคหนึ่งเลย ยกเว้นการเลือกนายกฯ จากบุคคลนอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหรือนายกฯ คนนอกเท่านั้นที่ต้องเสนอเป็นญัตติ
และเมื่อเปิดดูข้อบังคับการประชุมรัฐสภาในหมวดที่ 9 การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีส่วนใดที่ระบุว่าต้องเสนอเป็นญัตติเช่นเดียวกับญัตติอื่น ๆ ที่ระบุในข้อบังคับหมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 เรื่องการเสนอญัตติ
ประชุมรัฐสภา โหวตนายกฯ รอบ 2
เสนอนายกฯคนนอก โหวตไม่ผ่าน เสนอซ้ำไม่ได้
ในกรณีเสนอชื่อบุคคลนอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเป็นนายกฯ ทั้งรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม ข้อ 30 และ 138 ระบุชัดเจนว่า สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่สามารถเข้าชื่อเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้
กรณีนี้ถ้ารัฐสภามีมติไม่เห็นชอบนายกฯ คนนอกจะทำให้ ในสมัยประชุมดังกล่าวไม่สามารถเสนอญัตติเพื่อเสนอนายกฯ คนนอกได้อีก เพราะเป็นญัตติซ้ำตามข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อ 41
ดังนั้นจึงมีแต่การเสนอญัตติเสนอนายกฯ คนนอก เท่านั้นที่ถือว่าเป็นญัตติที่จะเสนอซ้ำไม่ได้ แต่การเสนอชื่อนายกฯ โดยวิธีการปกติจะเสนอชื่อเดิมซ้ำโหวตกี่ครั้งก็ได้จนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่
ดูสด! โหวตนายก รอบ 2 ที่นี่ : https://www.thaipbs.or.th/news/content/329739
ชมย้อนหลัง ประชุมสภา โหวตนายก "พิธา" ครั้งที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
โหวตนายกฯ รอบ 2 : "สุทิน" ลุ้นตีความข้อบังคับ 41 ชงชื่อ "พิธา"
จับตา ทิศทาง ส.ว.ก่อนโหวตนายกฯ
ศาลอาญาฯ รับฟ้อง 7 กกต.กลั่นแกล้ง "พิธา" นัดฟังคำพิพากษา 8 ส.ค.
“ก้าวไกล” ยื่นเสนอร่างกฎหมาย 7 ฉบับ ปฏิรูปกองทัพ-ปิดช่องทุนผูกขาด