วานนี้ (13 ก.ค.2566) ภายหลังจากการที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน จึงทำให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.จำนวน 13 เสียง
อ่านข่าว ผลโหวตนายก : "พิธา" ไม่ผ่านรอบแรก
ต่อมา สภานักศีกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ เรื่อง แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการกระทำของสมาชิกวุฒิสภาบางท่าน ที่ไม่เคารพต่อฉันทามติของประชาชน ด้วยผลการลงมติโหวตเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ในวาระพิจารณา ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2566 นั้น ที่ประชุมได้เสนอ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพียงผู้เดียวเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
การลงมติเห็นชอบได้มีมติเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 181 เสียง และงดออกเสียง 200 เสียง ซึ่งเสียงเห็นชอบ ยังไม่ เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้ง 2 สภารวมกัน คือ 749 เสียง หากพิจารณาจากจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 250 เสียง มีมติไม่เห็นชอบ 34 เสียง และงดออกเสียงถึง 159 เสียง แต่มีมติเห็นชอบคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพียง 13 เสียง
อ่านข่าว ประชุมสภา : "ส.ว.พีระศักดิ์" โหวตหนุน "พิธา" ยึดหลักโหวตให้เสียงข้างมากของ ส.ส.
หากพิจารณาตามผลการเลือกตั้งของปวงชนชาวไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปประจำปี 2566 แล้ว พรรคก้าวไกล ได้รับเลือกตั้งเป็นคะแนนสูงสุด และคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ควรได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
ดังนั้น การที่สมาชิกวุฒิสภาหลายท่านมิได้ให้ความเห็นชอบเป็นไปตามเสียงข้างมากของประชาชน แต่กลับเลือกที่จะไม่เห็นชอบและงดออกเสียง ทั้งที่ควรปฏิบัติตามความต้องการข้างมากของประชาชน ก็เท่ากับว่า สมาชิกวุฒิสภาเหล่านั้น ไม่เคารพต่อฉันทามติของประชาชน
ดังนั้น ในนามสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอแสดงจุดยืนในการไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ สมาชิกวุฒิสภาเหล่านั้น ที่ไม่เคารพต่อเสียงของประชาชน ทั้งที่ท่านทั้งหลายควรต้องปฏิบัติตามหลักการแห่ง ประชาธิปไตยในการเคารพเสียงข้างมากของประชาชน เคารพต่อฉันทามติของประชาชน และเลือกลงคะแนนให้ เป็นไปตามความต้องการของประชาชน
อ่านข่าว "พิธา" ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้ ยันเดินหน้าแก้ ม.112
แต่สมาชิกวุฒิสภาหลายท่านกลับเลือกที่จะเพิกเฉยกับหลักการเหล่านี้ ย่อมเป็นการตอกย้ำว่า ท่านทั้งหลายมิได้ทำเพื่อความต้องการของประชาชนชาวไทยเลย ทั้งที่อำนาจที่ท่านมีในมือ นั้นเป็นอำนาจของปวงชนชาวไทย อำนาจในการกำหนดว่า บุคคลใดควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี ควรเอาความ ต้องการของประชาชนเป็นสำคัญในการชี้ขาดตัดสิน มิใช่เป็นไปตามอำเภอใจของพวกท่าน
ดังนั้น เมื่อสมาชิก วุฒิสภาบางท่านมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามครรลองที่ควรจะเป็น สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงไม่เห็นด้วยและคัดค้านถึงการกระทำของสมาชิกวุฒิสภาเหล่านั้น และพร้อมยืนหยัดให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตาม ครรลองประชาธิปไตย
ดังนั้นแล้ว สมาชิกวุฒิสภาทั้งหลาย จงเคารพต่อฉันทามติของประชาชน สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 13 กรกฎาคม 2566
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภาคธุรกิจห่วงการเมืองกระทบเศรษฐกิจ
จับกระแสการเมือง : วันที่ 13 ก.ค.66 สึนามิลูกแรก “พิธา” ยังคว้างกลางทะเล
เปิดรายชื่อ 13 ส.ว. โหวต "เห็นชอบ" พิธานั่งนายกฯ