วันนี้ (13 ก.ค.2566) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน มิ.ย. 2566 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 56.7 จากระดับ 55.7 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือนนับตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 63.9 จากระดับ 63.1 ปรับเพิ่มเพียงแค่เล็กน้อยเนื่องจาก ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลและเสถียรภาพทางการเมือง และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 13 ก.ค. จะเป็นตัวชี้วัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งนักธุรกิจและผู้บริโภคต่างจับตาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่าจะไปในทิศทางใด เพราะหากไม่มีรัฐบาลหรือจัดตั้งรัฐบาลได้ล่าช้าการใช้งบประมาณของภาครัฐจะถูกเลื่อนออกไป ทำให้ภาคธุรกิจวางแผนลงทุนไม่ได้
โดยประเมินว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป แต่ยังอยู่ในเดือน ส.ค. - ก.ย. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจคงจะไม่รุนแรง เพราะถือว่ายังอยู่ในกรอบ สามารถเดินหน้างบลงทุนต่าง ๆ จะทำให้เอกชนวางแผนลงทุนได้ต่อ แต่หากจัดตั้งรัฐบาลเลยออกไปเดือน ต.ค. การใช้งบประมาณจะถูกเลื่อนออกไปช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 จะกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
ดังนั้นประเมินว่า หากสถานการณ์การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีราบรื่น แม้จะมีการชุมนุมประท้วงแต่ไม่มีความรุนแรง เศรษฐกิจก็จะสามารถเติบโตได้ร้อยละ 3.5 แต่หากได้นายกรัฐมนตรีและเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ตามกรอบระยะเวลาและผลักดันการใช้งบประมาณ เร่งเดินหน้าลงทุน เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ร้อยละ 4
แต่กรณีหากไม่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีขึ้นอยู่กับเหตุผลของรัฐสภาว่าจะเป็นเหตุผลใด เช่น จำเป็นต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการถือหุ้นสื่อของนายพิธาหรือไม่ หรือหากกรณีเลวร้ายนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกล ทั้งหมดจะนำไปสู่ก็ความรุนแรงการเกิดชุมนุมประท้วงว่าจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ หากไม่มีภาพความรุนแรง หรือ มีการชุมนุมในกรอบสันติวิธีก็จะไม่มีผลต่อการท่องเที่ยวจนกระเทือนมาถึงระบบเศรษฐกิจ
แต่การชุมนุมประท้วงมีความรุนแรงจนเกิดความเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยว มีโอกาสจะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวหายไปเดือนละ 1 ล้านช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำรายได้ท่องเที่ยวหายไปราว 500,000 ล้านบาทซึ่งจะฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 1
เกาะติดการเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยทาง ไทยพีบีเอส หมายเลข 3 และ ทางออนไลน์ www.thaipbs.or.th/live
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประชุมสภา : "เพื่อไทย" เสนอ "พิธา" เป็นนายกฯ ไร้พรรคอื่นเสนอแคนดิเดตนายกฯแข่ง
ประชุมสภา : หลายจังหวัดชุมนุมให้กำลังใจ-จับตา “โหวตนายกฯ คนที่ 30”
ประชุมสภา : "พิธา" ย้ำมีคุณสมบัติครบถ้วนนั่งนายกฯ แก้ ม.112 ไม่อยู่ใน MOU