วันนี้ (5 ก.ค.2566) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า วันนี้ กทม.จะติดตามผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับความชัดเจนเรื่องสัญญารถไฟฟ้าบีทีเอส เนื่องจากที่ผ่านมา กทม.ได้แจ้งผ่านกระทรวงมหาดไทย เพื่อแจ้งต่อ ครม.ให้รับทราบแล้วถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและขอให้มีแนวทางพิจารณาใน 2 ประเด็นเกี่ยวข้อง คือ
ประเด็นแรก กทม.ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน กับ ค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต -สะพานใหม่- คูคต ที่ กทม.เป็นหนี้เอกชนมาก่อนหน้านี้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เนื่องจากติดเงื่อนไข คำสั่ง ม.44 ก่อนหน้านี้ ซึ่งรัฐบาลมอบหมายให้กรุงเทพฯ รับผิดชอบในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ไม่ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายมาด้วย ดังนั้น กทม.ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนค่าจ้างส่วนนี้ และค่าโครงสร้างพื้นฐานเหมือนโครงการลงทุนอื่น ๆ
ประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับ คำสั่ง "มาตรา 44" ยุค คสช.ที่กำหนดเงื่อนไขเรื่องหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ไปผูกพันกับการให้สิทธิเอกชนได้ขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี โดยที่ไม่ได้ ผ่านการพิจารณาของ สภา กทม.ตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น
รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ให้บริการตั้งแต่สถานีหมอชิต-สถานีคูคต เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.63 มีทั้งหมด 16 สถานี ระยะทางรวม 19 กม.เป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมต่อ 2 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปทุมธานี
ทั้ง 2 ประเด็น ทาง กทม.ได้ทำหนังสือทวงถาม ก.มหาดไทย เพื่อขอความชัดเจนของ ครม.มาแล้วก่อนหน้านี้ แต่เรื่องยังคงค้างอยู่และไม่ได้ข้อยุติ และทราบว่า วันนี้ จะมีการเสนอเข้า ครม.ให้รับทราบ แต่ผลจะเป็นอย่างไร ต้องรอการประชุม ครม.
ถ้ารัฐบาลช่วย กทม.ลงทุนเหมือนโครงการอื่น ๆ ก็จะทำให้ภาระหนี้ ของ กทม.น้อยลง และ กทม.มีภารกิจโครงการอื่น ๆ อีกมาก ที่จะต้องทำให้ประชาชนในหลากหลายมิติ ในขณะที่งบประมาณ กทม. ไม่ได้มีเยอะ เรื่องนี้เกิดขึ้นมาก่อน แต่กลายเป็นปัจจัยผูกพันที่ทำให้ กทม.เดินหน้าต่อไม่ได้ เพราะต้องการความชัดเจน
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า หากจะต้องต่อสัมปทานรถไฟฟ้าจริง ก็ต้องการให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นไปตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
ในส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ กทม.ชุดปัจจุบัน คือ ที่ผ่านมาได้ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ของ สภา กทม.แล้ว ได้เชิญฝ่ายเกี่ยวข้องและเอกชนมาชี้แจงในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ที่สุดแล้วต้องรอความชัดเจน จาก ครม.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กมธ.แนะ กทม.กู้เงินจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รัฐบาลค้ำประกัน
บทวิเคราะห์ : โจทย์ยาก “ชัชชาติ” รถไฟฟ้าสายสีเขียว
มท.ถอนวาระต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ครม.ยังไม่พิจารณาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว