ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบความปลอดภัยของถังดับเพลิงใกล้ตัวเบื้องต้น โดยสอบถามจาก นายกัมพล เลิศเกรียงไกรยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิปปอน เคมิคอล จำกัด ผู้ผลิตและนำเข้าถังดับเพลิงจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้ง ซ่อมบำรุง รวมไปถึงการบริการทดสอบถังดับเพลิงด้วยแรงดันน้ำ (Hydrostatic Test)
นายกัมพล กล่าวว่า ถังดับเพลิงแต่ละชนิด มีความเหมาะสมในการใช้งานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของไฟ และสถานที่การใช้งาน ผู้ติดตั้งควรเลือกชนิดของถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับบริบทการใช้งาน
ประเภทถังดับเพลิงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. และการเลือกใช้งานให้เหมาะสม
1.ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง
ผ่านมาตรฐาน มอก. 332-2537 เหมาะสำหรับใช้ดับเพลิงประเภท B ที่เกิดจากของเหลวหรือก๊าชไวไฟ เช่น ก๊าช ไข น้ำมัน เป็นประเภทถังดับเพลิงที่เหมาะสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป เมื่อใช้งานอาจมีควันมาก
เมื่อเปิดใช้งานถังดับเพลิงชนิดนี้แล้ว 1 ครั้ง ไม่ว่าจะใช้งานหมดหรือไม่ จะไม่สามารถใช้งานอีกครั้งได้ เพราะแรงดันภายในถังดับเพลิงลดลง จำเป็นต้องส่งให้บริษัททำการบรรจุแรงดันใหม่
2.ถังดับเพลิงชนิดโฟม
ผ่านมาตรฐาน มอก. 882-2532 เหมาะสำหรับการใช้ดับเพลิง ประเภท A ที่เกิดจากวัตถุติดไฟทั่วไป เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ พลาสติก และเพลิงประเภท B ไม่ควรใช้ดับไฟที่เกิดจากการลุกไหม้ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ไฟฟ้า เพราะว่าโฟมมีส่วนผสมของน้ำซึ่งเป็นสื่อในการนำไฟฟ้า
3.ถังดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
มีมาตรฐานภาคสมัครใจ หรือ มอก. 881-2532 ผู้ใช้งานควรจะรับทราบข้อปฏิบัติ ในการใช้งานถังดับเพลิงชนิดนี้ และควรจะผ่านการฝึกฝนการดับเพลิงมาก่อน เพราะมีการอัดแก๊สแรงดันสูงเข้าไปในตัวถัง จึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้งานและการตรวจเช็คสภาพถังอย่างต่อเนื่อง
ถังดับเพลิงชนิด CO2 เหมาะสำหรับสถานประกอบการ หรือสำนักงาน ที่ต้องการรักษาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากละอองดับเพลิงเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัย
ไม่ควรใช้งานถังดับเพลิงชนิดนี้ในพื้นที่แคบ เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเข้าไปแทนที่ออกซิเจนภายในบริเวณนั้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้งานได้
นอกจากนี้ผู้ติดตั้งควรตรวจสอบสภาพการใช้งานภายนอก ของถังดับเพลิงทุก 1 เดือน และจำเป็นต้องตรวจเช็คถังดับเพลิงภายใน พร้อมกับบรรจุสารเคมีใหม่ทุก 5 ปี ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ปีพ.ศ.2555 กำหนดไว้
รู้ได้อย่างไรว่าถังปลอดภัย (วิธีตรวจสอบถังเบื้องต้น)
จากเว็บไซต์ Santo Fire Group กล่าวถึงวิธีการสังเกตลักษณะภายนอกของถังดับเพลิง ดังนี้
- สลักล็อกป้องกันการฉีด ถูกล็อกอยู่กับคันบีบ พร้อมใช้งาน ยืนยันว่าถังดับเพลิงยังไม่ถูกใช้งาน
- สายฉีด ควรตรวจสอบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง สายอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่บุบ ไม่งอ หากชำรุดจะไม่สามารถกดเพื่อใช้งานดับไฟได้
- ตัวถัง ไม่บวม รั่ว หรือบุบ ไม่ขึ้นสนิม ป้องกันการรั่วไหลของสารเคมี
- มาตรวัดแรงดัน หรือเกจ์วัดแรงดัน จากถังดับเพลิง 3 ชนิด ที่กล่าวในข้างต้น มีถังดับเพลิงเพียงแค่ 2 ชนิดที่มีมาตรวัดแรงดัน คือถังดับเพลิงชนิดเคมีแห้งและโฟม หมั่นสังเกตเข็มให้ตั้งอยู่ในพื้นที่สีเขียว
หากตกไปข้างซ้าย ช่อง Recharge หมายความว่า ตัวถังอยู่ในสภาพแรงดันต่ำกว่า 195 psi ไม่พร้อมใช้งาน ควรติดต่อบริษัท เพื่อทำการเช็คแรงดันและเติมแก๊ส
หากเข็มตกไปทางขวา ช่อง Overcharge หมายความว่า ตัวถังมีค่าแรงดันสูงเกินกำหนด 195 psi อาจเกิดอันตรายได้
หากพบเจอลักษณะข้างต้น ควรแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตหรือนำเข้าสินค้า สถานีดับเพลิงทั่วไป กทม. หรือ Traffy Fondue เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจัดเก็บถังดับเพลิง
- ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง สามารถตรวจสอบความหนาแน่นของสารเคมี โดยการคว่ำถังดับเพลิง ทุก 6 เดือน ลดการเเข็งตัวของสารเคมี ช่วยคงสภาพเหลวพร้อมใช้งานได้ทุกเมื่อ
- ถังดับเพลิงชนิด CO2 ถึงแม้ว่าไม่เคยผ่านการใช้งาน และตัวถังยังคงอยู่ในสภาพดี ก็ควรตรวจสอบปริมาณก๊าซทุก 6 เดือน โดยการชั่งน้ำหนักตัวถัง หากมีน้ำหนักลดลง ทั้งที่ยังไม่ได้ผ่านการใช้งาน ก็อาจเกิดการรั่วไหลของก๊าซภายในตัวถังได้ ควรติดต่อไปยังบริษัทหรือหน่วยงานเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม
ตรวจความปลอดภัยด้วยแรงดันน้ำ (การทำ Hydrostatic Test)
การทดสอบความดันด้วยน้ำ หรือ Hydrostatic Test เป็นการส่งถังดับเพลิงไปยังผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของถังดับเพลิง โดยกระบวนการส่งแรงดันน้ำเข้าไปในตัวถัง เพื่อตัวสอบหาจุดรั่ว และความแข็งแรงของถังดับเพลิง ว่าสามารถใช้งานต่อไปได้อีกหรือไม่
นายกัมพล กล่าวว่า ในทุก 5 ปี ผู้ติดตั้งสามารถติดต่อไปยัง บริษัทผู้ผลิตหรือนำเข้าถังดับเพลิง เพื่อรับการตรวจสภาพถัง โดยมีค่าใช้จ่าย 500 บาทในการตรวจสอบ ทางบริษัทจะทำการรับถังดับเพลิง และนำถังดับเพลิงอื่นมามอบสำรองให้กับลูกค้า ในระหว่างที่การดำเนินการตรวจสอบยังคงดำเนินอยู่ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท)
จากนั้น บริษัทที่รับเรื่อง จะนำถังดับเพลิงเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบ เริ่มจากตรวจสอบภายนอกของตัวถังโดยละเอียด หาจุดผุกร่อนของตัวถัง ทำการถอดหัวฉีด และเทสารเคมีภายในออก เว็ปไซต์ Santo Fire Group กล่าวถึงขั้นตอนการทดสอบต่อไปว่า ผู้ทดสอบจะทำการต่อสายเติมของเหลว 2 ประเภทได้แก่ น้ำที่มีส่วนประกอบของน้ำจืด ผสมร่วมกับสารคลอรีนในปริมาณไม่เกิน 50 pmm เป็นตัวกลางนำแรงดันน้ำ เข้าสู่ตัวถัง
ทำการอัดแรงดันเข้าไป เพื่อให้ตรวจสอบหาจุดรั่วซึม ปริบวม หรือสภาพความสมบูรณ์ของถังภาชนะรับแรงดัน ว่าสามารถทนแรงดันทดสอบได้หรือไม่
โดยมาตรฐานการทํา Hydrostatic test อยู่ที่ 30 นาที โดยระหว่างการทดลอง ผู้ทดสอบจะทำการค้นหาจุดรั่วซึม หากมีจุดไหนเกิดการรั่วจะทำการยกเลิกทันที
หากไม่เกิดความผิดปกติใดๆ ก็สามารถบรรจุสารเข้าไปใหม่ได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการบรรจุสารขึ้นอยู่กับชนิดของสารที่ใช้ และขนาดของบรรจุภัณฑ์
หากบริษัทตรวจสอบ และพบว่าตัวถังเสียหาย มีรอยหรือสนิม ทางบริษัทแนะนำว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนถังใหม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
ติดตั้งถังดับเพลิงอย่างไรให้ปลอดภัย
การจัดเก็บถังดับเพลิงอย่างถูกวิธี เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้งานถังดับเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ติดตั้งสามารถจัดเก็บอุปกรณ์ได้ ดังนี้
- ไม่ติดตั้งถังดับเพลิงไว้ในที่ชื้น
- ไม่ติดตั้งถังดับเพลิงไว้ในพื้นที่มีแดดร้อนส่องถึง อุณหภูมิของถังดับเพลิง ไม่ควรเกิน 49 องศา
- หากวางถังดับเพลิงไว้ภายนอกอาคาร ควรที่จะมีกล่องเก็บถังดับเพลิง ป้องกันมด ความชื้น และความร้อน
- ถังดับเพลิงชนิดเคมีและโฟม หลีกเลี่ยงการตั้งถังดับเพลิงในระยะประชิดกัน 2 ถัง ควรติดตั้งห่างจากกัน 20 เมตร และ ห่างจากพื้น 1.50 เมตร
- ถังดับเพลิงชนิดCO2 ไม่ควรติดตั้งถังดับเพลิงสูงเกิน 1 เมตร โดดเด็ดขาด
การตรวจสอบถังดับเพลิงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ติดตั้ง และประชาชนทั่วไป ที่สามารถช่วยกันตรวจสอบ บำรุงอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยนี้ ให้มีสภาพดีปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้งาน และพร้อมใช้งานทุกเมื่อที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
เครดิตภาพ :
ส่วนประกอบถังดับเพลิง - ถังดับเพลิง SATURN โรงงานผู้ผลิต เครื่องดับเพลิง : Inspired by LnwShop.com (saturnfireproduct.com)
Home :: บริษัท นิปปอน เคมิคอล จำกัด (nippon.co.th)
ถังดับเพลิงโฟม น้ำยาโฟมเข้มข้น ราคาพิเศษ คุ้มค่า คุณภาพดี สั่งซื้อง่าย จัดส่งไว (santofire.co.th)
การตรวจสอบถังดับเพลิงว่าพร้อมใช้งานหรือไม่ - SUPAKORN SAFTY SOLUTION (supakornsafety.com)
เครดิตข้อมูล :
การตรวจสอบถังดับเพลิง เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม พร้อมใช้เมื่อเกิดเหตุ (santofire.co.th)
hydrostatic test คืออะไร ทดสอบอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร (santofire.co.th)
ถังดับเพลิง ในงานอุตสาหกรรม มีกี่ชนิด - MISUMI Technical Center