เมื่อพรรคเพื่อไทยยืนยันการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องใช้สูตรเดิม 14+1 คือรัฐมนตรี 14 ตำแหน่งกับ 1 เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ หลังการประชุมกรรมการบริหารพรรค 27 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา
เท่ากับส่งแรงกดดันเรื่องประธานสภาผู้แทนฯ กลับไปยังพรรคก้าวไกล ที่มีทางเลือกน้อยกว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นตามบทของตนเองอย่างที่ถูกตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ต้นหรือไม่
เมื่อออกหน้านี้ หลายๆ คนเชื่อว่าทางก้าวไกลจะกลายเป็นฝ่ายตั้งรับเพราะหลังพิงฝา มีทางออกเพียง 2 ทางที่ต้องเลือกเดิน 1.เดินหน้าตามคำยืนยันเดิม คือตำแหน่งนี้ต้องเป็นของพรรคก้าวไกล หรือ 2.ยอมถอย 1 ก้าว คายเก้าอี้ตัวนี้ให้กับพรรคเพื่อไทย เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค เดินหน้าต่อไปได้
เบื้องต้นพรรคก้าวไกลแก้ลำ โดยประกาศเลื่อนเจรจากับพรรคเพื่อไทยออกไปก่อน เพื่อประเมินและสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังช่วงชิงความพร้อม โดยเปิดตัวและปล่อยคลิปแสดงวิสัยทัศน์ของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.เขต 1 พิษณุโลก ผ่านโลกออนไลน์ทันที
เปรียบเทียบพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้เปิดตัวว่าที่แคนดิเดตประธานสภาฯ ที่มีการตั้งคุณสมบัติว่าต้องมีประสบการณ์ เป็นกลาง มีบุคลลิกผู้นำ มีวิสัยทัศน์ สามารถประสานและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้นั้น จะเป็นใคร
เป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค หรือนายสุชาติ ตันเจริญ ที่มีชื่ออยู่ในข่าวว่าจะถูกส่งชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ด้วยโควตาของพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ
“หมออ๋อง” นายปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นนายสัตวแพทย์วัยกลางคน ผ่านการทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนและแก้ไขปัญหาสังคม กับสำนักกลางนักเรียนคริสเตียนมานาน ลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรกปี 2562 ในสังกัดพรรคอนาคตใหม่
และชนะเลือกตั้ง เอาชนะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.เจ้าของพื้นที่เดิมได้อย่างเด็ดขาด ทั้งที่เปิดตัวครั้งแรกถูกมองว่า เป็นรองสุดกู่ รวมถึงเลือกตั้งปี 2566 ก็ชนะเลือกตั้งในสังกัดพรรคก้าวไกล
สปีชของ นายปดิพัทธ์ ไม่ยาว สั้น กระชับ แต่ชัดเจนได้ใจความ ตอกย้ำ 3 หัวใจหลักที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาของสภาไทย คือ ประสิทธิภาพ โปร่งใส และประชาชนเข้าถึงได้ ให้เป็นศูนย์กลางอำนาจที่สถาปนาโดยประชาชน ปรากฏว่า ฟีดแบคตอบรับเป็นอย่างดี
ขณะที่กูรูการเมืองส่วนใหญ่ รวมถึงแฟนการเมืองพันธุ์แท้ ต่างเชื่อว่าเป็นเกมชิงอำนาจ และยื่นเงื่อนไขแบบได้คืบจะเอาศอก หรืออาจถึงขั้นต้องการให้เกิดการแตกหัก หวังสะท้อนให้ผู้คนได้ตระหนักว่า พรรคก้าวไกลเดินหน้าต่อจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้แล้ว
ซึ่งจะเป็นความชอบธรรมของพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคได้อันดับ 2 หากคนวงนอกยังเชื่อขนาดนั้น แล้วมีหรือที่คนในพรรคก้าวไกลจะไม่คิด หรือคาดเการณ์ว่า ท้ายสุดเรื่องนี้จะจบอย่างไร
พรรคเพื่อไทยอาจหวังดึงเกมนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภา ใช้เสียง ส.ส.เป็นผู้ตัดสิน หมายถึงเปิดฟรีโหวต เนื่องจากประเมินแล้วว่า จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.พรรคการเมืองอื่น ๆ มากกว่าแคนดิเดทจากพรรคก้าวไกล ยิ่งการใช้สิทธิ์เลือกประธานสภา ส.ส.ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง ไม่ต้องโหวตตามมติพรรค และยังเป็นแบบลงคะแนนลับ ยิ่งเชื่อว่าน่าจะปิดประตูแพ้
พรรคก้าวไกลก็คงต้องรู้ ฉะนั้นหากหวังจะไปต่อให้ถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเจรจาตกลงกับทางพรรคเพื่อไทย หาบทสรุปตรงกันให้ได้ เพื่อแถลงผลสรุปการหารือผ่านสื่อไปยังประชาชนทั้งประเทศได้รับรู้รับทราบ ป้องกันการหักดิบ-หักหน้าหักหลังอะไรก็ตามที รวมถึงพันธะสัญญา ยังจะเดินหน้าร่วมกันต่อไปหรือไม่
หรือทางออกสุดท้าย ทางเลือกที่ 3 คือ เมื่อพยายามเดินหน้าอย่างเต็มที่แล้ว แต่เจอทั้งอุปสรรคขวากหนาม โดนรุมถล่มและจ่อเล่นงานต่ออีกสารพัดรูปแบบไม่เลิก ทั้งจากฝ่ายอำนาจเก่า กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาล ที่อุตส่าห์ลงนามประกาศเอ็มโอยูร่วมกัน ยังทำได้ขนาดนี้
หากขอประกาศจุดยืน พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้าน คอยตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น และขอให้เลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไป เลือกพรรคก้าวไกลให้มากขึ้นอีกเท่าตัว
ปัญหาอยู่ที่พรรคก้าวไกล จะกล้าเลือกทางที่ 3 นี้หรือไม่ เท่านั้นเอง
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา