แต่การชิงประธานและรองประธานเป็นเรื่องภายในของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับปัจจัยภายนอก ต่างจากด่าน ส.ว.เพราะเป็นเรื่องปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ตามกลไกรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดไว้ ให้การโหวตเลือกนายกฯ ต้องใช้ทั้งเสียง ส.ส.และ ส.ว.คล้ายกับยุคสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบเมื่อปี 2521 ที่ ส.ว.สามารถโหวตเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.เช่นกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายการสืบทอดอำนาจในยุคสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เจ้าของสูตรแกงเขียวหวานเนื้อใส่บรั่นดี อันลือลั่น
ครั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ก่อน ต่อเนื่องต้นสัปดาห์นี้ ส.ว.ออกโรงพูดเรื่องจุดยืนและแนวโน้มของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ หรือไม่หลายคน มีเพียงนายพีระศักดิ์ พอจิต อดีตรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช.คนเดียว ที่ระบุจะโหวตให้นายพิธา
แต่คนอื่น ๆ ทั้งนายเสรี สุวรรณภานนท์ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนแต่สะท้อนท่าที ส.ว.ส่วนใหญ่ปฏิเสธอย่างชัดเจน ถึงจะมีบางส่วนพร้อมปิดสวิตช์หรืองดออกเสียง แต่การงดออกเสียงของส.ว.ก็เป็นอุปสรรคขวางกั้นนายพิธาไม่ต่างจากการโหวตโน
มีข้อเสนอกลับแบบเปิดเผยตรงไปตรงมา คือให้ ส.ส.ไปรวบรวมเสียงกันเองให้ได้ 376 เสียง เพราะเสียงของ ส.ว.จะไม่มีความหมายทันที เท่ากับปิดสวิตช์โดยปริยาย เป็นการปฏิเสธคำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่อ้างว่า การเจรจาโน้มน้าว ส.ว.มีสัญญาณตอบรับที่ดี มีเสียง ส.ว.เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้จะถึงเป้าที่ต้องการแล้ว
ยังไม่นับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่ยอมรับว่า เสียงโหวตส.ว.จะไม่เป็นทิศทางเดียวกัน เนื่องจากแต่ละคนมีวุฒิภาวะและเหตุผลเพียงพอ ที่จะเลือกคนดี คนเก่ง
ไม่ต่างจากที่ พล.อ.อกนิษฐ์ ย้ำสเปคคนที่ ส.ว.จะโหวตให้ ต้องเป็นคนเก่งและคนดีคู่กัน ที่สำคัญต้องเป็นคนที่ทำงานเพื่อประเทศชาติ ยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
เท่ากับตอกย้ำประเด็น ม.112 ที่เป็นเหตุผลสำคัญทำให้ ส.ว.ปล่อยนายพิธาไปต่อไม่ได้ และยังแนะให้ยอมถอยเรื่องนี้ แต่อาจติดขัดตรงที่เป็นหนึ่ง ในนโยบายที่พรรคก้าวไกลใช้หาเสียง และไม่หวังให้กระทบต่อฐานมวลชนคนรุ่นใหม่
การออกโรงย้ำของ ส.ว. ส่งสัญญาณปิดโอกาสนายพิธา นำมาซึ่งท่าทีความไม่พอใจของมวลชนที่สนับสนุนนายพิธาและพรรคก้าวไกล หรือ “ด้อมส้ม”
และมวลชนอีกส่วนหนึ่งที่เลือกพรรคก้าวไกล เริ่มมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับความคิดเห็น และตอบโต้ ส.ว.ผ่านโลกโซเชียล และโลกออนไลน์รอบใหม่
หลังจากมีรายการ ”ทัวร์ลง” ต่อต้านทั้งที่ กกต.และ ส.ว. โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม มีการจัดเวทีหวังกดดัน ส.ว.ที่ข้างอาคารรัฐสภา ของกลุ่มแนวร่วมธรรรมศาสตร์และการชุมนุม ให้โหวตเลือกนายพิธา
รอบใหม่นี้ ประเมินกันว่าจะค่อยๆ เพิ่มความร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ และจะพีคสุดในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินวันที่ 11-12 ก.ค. ขณะที่ใน CHANGE.ORG ในกลุ่มแคมเปญยอดนิยม 20 อันดับแรก มีแคมเปญเกี่ยวกับส.ว.และเรื่องโหวตเลือกนายกฯ มากถึง 7 แคมเปญ แต่ยอดคนลงชื่อสนับสนุนยังมีไม่มาก
สิ่งที่ถูกจับตาจากหลายภาคส่วน ประการหนึ่ง คือการลุกฮือปลุกม็อบลงท้องถนนเพื่อกดดันทั้งส.ว.และ กกต. รวมไปกระทั่งการแสดงออกถึงการยืนเคียงข้างและสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของ 8 พรรคการเมือง โดยมีนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงออกถึงการพิทักษ์รักษาสิทธิที่พึงได้ ผลการออกเสียงเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 14 พ.ค.นั่นเอง
เพราะก่อนหน้านี้ “ม็อบเสื้อเหลือง” รวมตัวบุกไปสภาฯ ให้กำลังใจ ส.ว. ไม่ต้องโหวตให้พรรคการเมือง ที่กล้าแตกแถว ม.112 มาแล้ว เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.
สำทับด้วยความเคลื่อนไหวของอดีตหัวหน้าการ์ดเสื้อแดง นายสมบัติ ทองย้อย ที่เหน็บและด้อยค่าถึงด้อมส้มอยู่ในทีว่า ไม่ควรเอาม็อบมาขู่ และเป็นการตอกย้ำว่า “ด้อมส้ม” กับ “ด้อมแดง” สร้างดาวคนละดวง ไม่อาจสานฝันร่วมกันได้
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา