ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วงในเผยผู้บริหาร "โอเชียนเกต" เคยถูกเตือน "อาจทำคนเสียชีวิต"

ต่างประเทศ
24 มิ.ย. 66
14:19
846
Logo Thai PBS
วงในเผยผู้บริหาร "โอเชียนเกต" เคยถูกเตือน "อาจทำคนเสียชีวิต"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำนักข่าวต่างประเทศเปิดเผยข้อมูลชี้ ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัทโอเชียนเกต 1 ในผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมเรือดำน้ำไททัน ละเลยคำแนะนำด้านความปลอดภัย ขณะที่ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกมาแก้ต่างเกี่ยวกับประเด็นนี้

วันนี้ (24 มิ.ย.2566) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโอเชียนเกต เจ้าของเรือดำน้ำไททัน ระบุว่า สต็อกตัน รัช ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัทโอเชียนเกต 1 ในผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น เป็นผู้ที่สามารถจัดการความเสี่ยงได้อย่างชาญฉลาดที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งเขาตระหนักถึงความเสี่ยงของการดำน้ำใต้ท้องทะเลลึกเป็นอย่างดี และให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ โอเชียนเกตไม่เคยปฏิบัติต่อลูกเรือในฐานะผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยว แต่จะปฏิบัติต่อพวกเขาเสมือนสมาชิกคนสำคัญ ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดขายที่ทำให้ผู้คนสนใจร่วมสำรวจกับทางบริษัท พร้อมทั้งระบุด้วยว่า ผู้คนจะได้รับบทเรียนจากโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ แต่การสำรวจใต้ทะเลจะยังคงดำเนินต่อไป

อ่าน : ที่มาที่ไปของ "ไททัน"

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว BBC เปิดเผยข้อมูลจากอีเมลที่ส่งโต้ตอบกันระหว่าง รัช กับ ร็อบ แมคแคลลัม ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจใต้ทะเลลึก ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาของโอเชียนเกต เนื้อหาในอีเมล แมคแคลลัม ระบุว่า เรือดำน้ำควรผ่านการตรวจสอบและทดสอบอย่างถี่ถ้วนก่อนการให้บริการ ขณะที่ รัช ระบุว่า เขาเหนื่อยหน่ายกับผู้คนในวงการ ที่พยายามจะใช้ข้ออ้างเรื่องความปลอดภัยมาชะลอการพัฒนานวัตกรรม และทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เปิดตัวในอุตสาหกรรมนี้ได้ล่าช้าลงด้วย ซึ่งเขารู้สึกว่าตนเองได้รับคำเตือนว่า "เขาอาจจะทำคนเสียชีวิต" บ่อยครั้งเกินไป

ด้าน จอห์น เคอร์บี โฆษกด้านความมั่นคงประจำทำเนียบขาว ออกมายืนยันว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ แจ้งไปยังหน่วยยามชายฝั่ง ที่กำลังปฏิบัติการค้นหาเรือไททันโดยทันที หลังจากตรวจจับเสียงคล้ายเสียงระเบิดได้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งทางกองทัพระบุอย่างชัดเจนว่า ไม่สามารถระบุที่มาได้แน่ชัดและมีความเกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำไททันหรือไม่ ปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำไททันจึงควรดำเนินต่อไป

อ่าน : ภารกิจสุดหินกู้ "ไททัน" เมื่อแผนที่มหาสมุทรลึกลับกว่าแผนที่ดวงจันทร์

นักท่องเที่ยวเยอรมันชี้ "ไททัน" มีปัญหาตั้งแต่ 2021

อาร์เธอร์ ลอยบึล นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันที่เคยใช้บริการเรือดำน้ำไททันลงไปสำรวจซากเรือไททานิกเมื่อปี 2021 เปิดเผยว่า ครั้งนั้นเรือดำน้ำไททันเกิดปัญหาหลายอย่าง รวมถึงระบบไฟฟ้าขัดข้อง และตัวกันโคลงที่ชำรุด

โดยการเดินทางต้องล่าช้าไป 4 ชั่วโมงเนื่องจากแบตเตอรีไม่สามารถประจุไฟได้ และเมื่อดำลงไปแล้วยังเกิดเสียงดังขึ้น ก่อนเหล็กกันโคลงทางด้านขวาของเรือดำน้ำจะหลุด ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวคือท่อยาว 2 เมตร ที่นำมาต่อกัน

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่าความรู้สึกตอนอยู่ในเรือดำน้ำไททันเหมือนฝันร้าย เพราะขนาดเรือกว้างเพียง 1.4 เมตร และยาวประมาณ 2 เมตร ผู้โดยสาร 5 คนต้องนั่งติดกันตลอดเวลา นอกจากนี้ก่อนจะร่วมออกเดินทาง ต้องลงนามรับรองว่าลูกเรือจะไม่เรียกร้องความรับผิดใดๆ ก็ตามจากบริษัท ทั้งผลกระทบทางด้านจิตใจหรือการเสียชีวิต

อ่าน : วิชาฟิสิกส์101 ถอดบทเรียนจากการถูกบีบอัด "ไททัน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง