ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นับถอยหลังค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ก่อนออกซิเจนหมดเย็นนี้

ต่างประเทศ
22 มิ.ย. 66
14:18
2,530
Logo Thai PBS
นับถอยหลังค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ก่อนออกซิเจนหมดเย็นนี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เร่งค้นหาเรือดำน้ำไททันใต้ทะเลลึก ก่อนออกซิเจนหมด 5 โมงเย็นวันนี้ เผยตรวจพบเสียงจากใต้น้ำเพิ่มขึ้น แต่ระบุที่มาของเสียงไม่ได้

วันนี้ (22 มิ.ย.2566) ความคืบหน้าการค้นหา "เรือดำน้ำไททัน" ที่ขาดการติดต่อไป ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่ถูกปล่อยลงมหาสมุทรแอตแลนติก ได้ 1.45 ชั่วโมง เพื่อดำน้ำลงไปดูซากเรือไททานิก ที่ระดับความลึกประมาณ 3,800 เมตร

ทีมกู้ภัยจากสหรัฐฯ และแคนาดา กำลังแข่งกับเวลาเพื่อค้นหาอย่างเต็มที่ ที่ตามคาดการณ์ว่าออกซิเจนในเรือดำน้ำ จะหมดลงในเวลา 17.00 น.ตามเวลาไทยวันนี้

นั่นหมายถึงชะตากรรมของผู้โดยสารทั้ง 5 คน คือ Stockton Rush ผู้ก่อตั้ง OceanGate, Hamish Harding มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ, Paul-Henry Nargeolet นักสำรวจชาวฝรั่งเศส, Shahzada Dawood นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายปากีสถานและลูกชาย

มีรายงานว่า ทีมค้นหาได้ยินเสียงจากใต้น้ำเพิ่มอีก แต่จนถึงตอนนี้ยังระบุที่มาของเสียงไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือหลายฝ่าย ระบุเสียงที่ได้ยินอาจไม่ได้มาจากเรือไททัน แต่อาจจะเป็นเสียงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และการที่มีเรือเข้ามาสมทบในภารกิจมากขึ้น อาจทำให้เกิดเสียงมากขึ้นตามไปด้วย

ด้านปฏิบัติการค้นหา กองทัพสหรัฐฯ ส่งทั้งเครื่องบิน อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อสนับสนุนภารกิจดังกล่าว นอกจากทางการสหรัฐและแคนาดาแล้ว ล่าสุด เรือวิจัย Atalante ของฝรั่งเศสได้เข้าร่วมในภารกิจค้นหาด้วย

ภารกิจค้นหาแข่งกับเวลา "เหนือผิวน้ำ - ใต้ทะเลลึก"

เรือวิจัย Atalante ของฝรั่งเศส มีหุ่นยนต์อัตโนมัติ Victor 6000 สามารถลงไปใต้น้ำได้ลึกถึงตำแหน่งที่ซากเรือไททานิกจมอยู่

กระทรวงกลาโหมแคนาดา นำเรือช่วยในการค้นหาเพิ่ม จากเรือ 2 ลำที่อยู่ในที่เกิดเหตุแล้ว 

เรือ HMCS Glace Bay มีทั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การดำน้ำ ที่ติดตั้งห้องอัดความดันอากาศที่จะช่วยรักษาหรือป้องกันอาการป่วยของผู้ที่เผชิญกับความดันที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล รุ่น P-8 Poseidon ของ Boeing และ และ P-3 โอไรออนของ Lockheed Martin โดยตามปกติเครื่องบินทั้ง 2 รุ่นนี้จะถูกใช้ทำภารกิจสอดแนมและเก็บข้อมูลข่าวกรอง แต่ก็มีบทบาทในปฏิบัติการกู้ภัยหลายครั้ง

รวมถึงการค้นหาเครื่องบินที่สูญหายและอาจตกลงสู่ทะเล เนื่องจากทั้ง 2 รุ่นนี้มีขีดความสามารถตรวจจับวัตถุใต้น้ำและเรือดำน้ำได้ นอกจากนี้ทางการยังปล่อยทุ่นโซนาร์ เพื่อให้คอยตรวจจับสัญญาณใต้ทะเล

บริษัทที่ประกอบกิจการใต้ทะเลลึกเชิงพาณิชย์ เข้ามาช่วยเหลือในปฏิบัติการนี้ด้วย

เรือสำหรับการวิจัย "โพลาร์ พรินส์" ได้ดำเนินการค้นหาบริเวณเหนือผิวน้ำมาตั้งแต่ช่วงเย็นวันจันทร์

เรือลากสายเคเบิลใต้ทะเล ดีปเอเนอร์จี และเรือลากจูงแอตแลนติก เมอร์ลิน กำลังมุ่งหน้าไปยังจุดที่ขาดการติดต่อกับเรือดำน้ำ  

เครื่องบินลำเลียง ซี-130 เฮอร์คิวลิส จำนวน 3 ลำ (2 ลำจากสหรัฐฯ และ 1 ลำจากแคนาดา) ได้เข้าร่วมในการค้นหาเรือดำน้ำเหนือผิวน้ำด้วยเช่นกัน โดยพยายามค้นหาจากน่านฟ้า

ไม่เพียงเท่านี้ ทีมค้นหายังขยายพื้นที่การค้นหา เพื่อค้นหาเรือดำน้ำไททัน เนื่องจากสัญญาณวิทยุและจีพีเอส ไม่สามารถใช้งานได้ใต้ทะเล

หน่วยยามชายฝั่ง ระบุได้ขยายการค้นหาไปใต้ทะเลลึกแล้ว โดยเครื่องบิน P 3 ออโรรา จากแคนาดา ได้เดินทางถึงพื้นที่ค้นหา และดำเนินการใช้คลื่นโซนาร์ รวมถึงปล่อยทุ่นโซนาร์ รอบรัศมีการค้นหา

ทุ่นคลื่นโซนาร์ สามารถตรวจจับและพิสูจน์คุณลักษณะของวัตถุที่เคลื่อนอยู่ในทะเลได้ เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ทางการทหาร เพื่อค้นหาเรือดำน้ำฝ่ายศัตรู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิเคราะห์ : "เรือไททัน" ปลอดภัยแค่ไหน?

ขยายพื้นที่ค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ออกซิเจนใกล้หมดวันนี้

ทีมค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ตรวจพบเสียงดังทุก 30 นาที

เร่งค้นหายานดำน้ำ "ไททัน" สูญหายใต้ทะเล คลุมพื้นที่ 26,000 ตร.กม.

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง