วันนี้ (19 มิ.ย.) กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศว่า เมื่อเวลา 08.40 น.แผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ขนาด 6.0 ลึก 10 กม. ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ.พบพระ จ.ตาก ประมาณ 289 กิโลเมตร
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าแผ่นดินไหวดังกล่าว เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย ในเมียนมาที่มีลักษณะการเลื่อนตัวตามแนวระนาบ ห่างจาก กทม.ประมาณ 500 กิโลเมตร แต่หลังเกิดแผ่นดินไหวได้รับแจ้งรู้สึกถึงสั่นไหวในบริเวณอาคารสูงในเขต กทม. และนนทบุรี
ชาวบ้านรับรู้แรงสั่นไหว-อพยพลงจากตึก
ขณะที่โลกออนไลน์ทวิตเตอร์ ได้ติดแฮชแท็กแผ่นดินไหว ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีการรายงานคนทำงานในตึกสูงหลายแห่ง รับรู้ถึงแรงสั่นไหว ตึกหลายแห่งเช่น สีลม เพชรเกษม มีการอพยพพนักงานลงมาอยู่ด้านนอกอาคาร
ทั้งนี้ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @Chitsanupo57308 เผยภาพคนที่ลงมาอยู่ด้านล่าง พร้อมติดแฮชแท็ก#แผ่นดินไหว สุขุมวิท
เช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ย่านคลองเตย เผยให้เห็นแรงสั่นไหวโดยมีหลอดไฟสั่นสะเทือน นอกจากนี้โรงเรียนบางแห่งในเขต กทม.ก็ได้มีการอพยพเด็กลงจากอาคารเรียน เพื่อความปลอดภัย
#แผ่นดินไหว pic.twitter.com/Bb2SI9Tp0j
— c (@saturdae3) June 19, 2023
รู้จักลอยเลื่อนสะกาย
สำหรับรอยเลื่อนสะกาย เป็นหนึ่งในรอยเลื่อนมีพลังที่ใหญ่และสาคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร วางตัวใน แนวเหนือ-ใต้ผ่ากลางประเทศเมียนมา เป็นรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกพม่าตะวันตก (Western Burma Plate) กับแผ่นเปลือกโลกฉานไทย (Shan-Thai Plate) ด้วยอัตราการเลื่อนตัว 20 มิลลิเมตรต่อปี
ทั้งนี้เมื่อหลายปีก่อน เคยเกิดแผ่นดินไหว ทำให้คนบนตึกสูงใน กทม.รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะกรณีเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2559 แผ่นดินไหวขนาด 6.8 ศูนย์กลางบริเวณเมืองมะเกว เขตสะกาย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน และเจดีย์หลายแห่งในเมืองพุกามได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้เมื่อ 12 ม.ค.2561 เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 จุดศูนย์กลางบริเวณเมืองพยู ตอนกลางของประเทศเมียนมา ลึก 10 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 224 กิโลเมตร สั่นสะเทือนถึงจ.เชียงใหม่ และอาคารสูงใน กทม.และยังเกิดอาฟเตอร์ช็อก รวมทั้งหมด 15 ครั้ง ตั้งแต่ขนาด 5.0-3.6
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดสถิติ 10 ครั้งหลังสุดแผ่นดินไหวในไทย "ภาคเหนือ" บ่อยสุด