นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยถึงกรณีตรวจยึดเนื้อหมูเถื่อนที่นำเข้ามาจากอเมริกาใต้และยุโรป ผ่านท่าเรือศุลกากรแหลมฉบัง จำนวน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ และได้ส่งให้ปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี ดำเนินการทำลายแล้ว 159 ตู้ น้ำหนักกว่า 4,313 ตัน เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนอีก 2 ตู้ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี
นายพชร ระบุว่า กรมศุลกากรได้เฝ้าระวังการลักลอบนำเนื้อหมูเถื่อนเข้ามาในไทยกว่า 1 ปีมาแล้ว อายัดไว้กว่า 200 ตู้คอนเทนเนอร์ และได้สั่งทำลายไปแล้วบางส่วน ซึ่งเนื้อหมูที่ถูกลับลอบนำเข้ามานี้สำแดงว่าเป็นปลาแช่แข็ง แต่เห็นว่านำเข้ามาเยอะผิดปกติ จึงให้อายัดตรวจสอบไว้ทั้งหมด แต่เมื่อเปิดดูพบว่าเป็นเนื้อหมูแช่แข็ง ถือว่าสำแดงเท็จ จึงสั่งให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และสืบหาผู้ที่นำเข้าและบริษัทชิ้ปปิ้งทั้งหมด แต่ยังไม่มีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของ
เบื้องต้นกรมศุลกากรได้ถอนใบอนุญาตบริษัทชิ้ปปิ้งดังกล่าวไปแล้ว และตามปกติกรมศุลกากรไม่สามารถเปิดตรวจสอบตู้สินค้าเองได้ ยกเว้นตรวจพบว่าเป็นยาเสพติดและอาวุธสงคราม จึงต้องอายัดไว้ก่อนเป็นเวลา 30 วัน และขยายเวลาได้อีก 15 วัน หรือในขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 60 วัน เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ พร้อมแจ้งเจ้าของสินค้า แต่เมื่อไม่มาติดต่อสามารถเปิดได้ และเจ้าของสินค้าผู้นำเข้าจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งค่าไฟฟ้าที่ใช้กับตู้แช่ และเช่าสถานที่ค่าวางสินค้าทั้งหมด จึงทำให้มีความล่าช้าในการตรวจสอบ
ส่วนกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาเปิดเผยว่า กรมศุลกากรใช้เวลานานในการตรวจสอบ และอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง นายพชร ระบุว่า ที่ผ่านมาทางกรมศุลกากรได้ดำเนินการมาโดยตลอด แต่ไม่ได้มาแถลงข่าวถึงความคืบหน้า
เนื่องจากของกลางเป็นเนื้อหมู ไม่ใช่ยาเสพติดที่มีมูลค่าความเสียหายสูง และในส่วนที่ทำลายไปแล้วก็ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ดำเนินการ และชี้แจงผ่านเว็บไซต์ของกรมศุลกากร ยืนยันไม่มีความล่าช้า แต่ทำต้องตามขั้นตอน
อธิบดีกรมศุลกากร ยังระบุว่า สำหรับการตรวจสอบของกรมศุลกากร กรณีที่พบเป็นเนื้อหมูค่อนข้างตรวจยึดได้ยาก แต่จะพบเมื่อผู้นำเข้ามาเข้าระบบพิธีทางศุลกากร ที่จะต้องมาสำแดงสินค้า แต่หากตรวจพบว่าไม่ตรงกับที่สำแดงถึงจะพบของกลาง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง