แม้ยังไม่มีคำอธิบายแน่ชัดถึงพฤติกรรมของสัตว์ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เชื่อว่าปัจจัยส่วนหนึ่งมาจาก Climate change ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ แหล่งน้ำแห้งขอด ดินโป่งเจือจาง ทุ่งหญ้าอาหารหลักของสัตว์กินพืชเปลี่ยนเป็นป่าทึบ จากเถาวัลย์ ต้นสาบเสือ และวัชพืชที่เติบโตรวดเร็ว

"ธรรมชาติเปลี่ยนแปลง ทำให้พฤติกรรมสัตว์ป่าเปลี่ยนไป Climate change เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ช้างป่าต้องออกนอกพื้นที่" น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตั้งข้อสังเกต
นอกจากปัญหาโลกร้อนที่ทำให้พฤติกรรมช้างป่า สัตว์นานาชนิดต้องปรับตัว หรือแม้แต่เชื้อโรค ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดแล้ว แหล่งอาหาร แหล่งน้ำลดลง คือ ปัจจัยสำคัญทำช้างป่า บุกรุกทำลายพืชผลการเกษตร เข้าหาชุมชน โชว์ตัวบนถนน แวะกินกล้วยตามแผงค้า ดักฉกอ้อยจากรถบรรทุกที่ผ่านไปมา

หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า บอกว่า อากาศร้อน แหล่งน้ำ อาหารไม่เพียงพอ เป็นแรงผลักให้สัตว์ออกนอกพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์กินพืช-หญ้า อย่างช้าง กระทิง วัวแดง ต้องใช้น้ำช่วยระบายความร้อนและปรับสมดุลร่างกายที่สูงเมื่อเผาผลาญพลังงาน
ลำพังการใช้ชีวิตของเก้ง กวาง กระทิง ในสภาพป่าเปลี่ยน เดินก็ติดเถาวัลย์ ชนต้นไม้ทึบ นับว่ายากแล้ว แต่สัตว์เหยื่อเหล่านี้ยังต้องหนีเอาตัวรอดจากสัตว์ผู้ล่า ผลกระทบส่งต่อเป็นทอด ๆ แหล่งอาหารน้อย ประชากรสัตว์เหยื่อลดลง ผู้ล่ายอดสุดของห่วงโซ่อย่าง "เสือโคร่ง" บางส่วนจึงออกไปล่าสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์รอบชายป่า
หมอล็อต บอกว่า อากาศร้อนยังเป็นปัจจัยทำให้แมลงเป็นพาหะนำโรคและกระจายพันธุ์ได้ดี และเพิ่มจำนวนพาหะนำโรคติดต่อสู่สัตว์ป่า โดยเฉพาะโรคพยาธิในเลือด ทำให้ช้างป่าที่ติดโรคนี้จะมีอาการหงุดหงิด ไม่สบายตัว ครั่นเนื้อครั่นตัว เกิดความเครียด
เปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งทำให้พฤติกรรมของสัตว์อาจดุร้าย ก้าวร้าว อาละวาดผิดปกติ นอกเหนือจากสิ่งเร้าอย่างมนุษย์ หรือการจดจำอดีตที่ฝังใจ ถูกรถเฉี่ยวชน ถูกไล่ ถูกทำร้าย
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามพฤติกรรมช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่ป่าเป็นเวลานาน และเข้าไปอยู่ในชุมชน พื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ บางส่วนพบว่า มีช้างป่วยด้วยโรคพยาธิในเม็ดเลือดชนิดหนึ่ง ส่งผลต่อพฤติกรรม และต้องใช้เวลารักษานานนับปีกว่าจะหายจากโรค
โลกร้อนไม่ใช่เพียงพาหะกระจายเชื้อโรคให้แข็งแกร่งขึ้น แต่ Climate change ยังส่งผลให้เกิดภัยพิบัติ ไฟป่า น้ำป่าหลากถี่ขึ้น เกิดความสูญเสียในสัตว์ป่าที่ไร้ประสบการณ์ สรีระไม่เอื้อ

"หมอล็อต" อธิบาย ความแข็งแรงเฉพาะตัวของสัตว์ที่เกิดจากพันธุกรรมว่า ช้างป่าบางตัวถูกเรียก ว่า "เจ้าแคระ" หรือ "เจ้าด้วน" จากขนาดตัวที่เล็กลง บางตัวพิการ แคระแกร็น สะท้อนความอ่อนด้อยทางพันธุกรรมลดลง เนื่องจากป่ามีสภาพเป็นเกาะ การเดินข้ามผืนป่าเป็นไปได้ยาก
“ช้างจะมีโอกาสผสมพันธุ์ในกลุ่มเครือญาติเพิ่มขึ้น และจะนำไปสู่ปัญหา เลือดชิด ทำให้สัตว์ป่าบางชนิดเกิดโรคระบาด หรือโรคติดต่อได้ง่าย หรือเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติได้ยาก บางตัวถูกน้ำพัดตาย” หมอล็อตอธิบาย
และย้ำว่า โดยพฤติกรรมสัตว์ ช้างป่าวัยหนุ่มพยายามสร้างกลไกป้องกันปัญหานี้ ด้วยการแยกออกไปหากินเดี่ยว ๆ เดินตามฝูงห่าง ๆ หรือเข้าไปแข่งขันให้เกิดการยอมรับและผสมพันธุ์กับอีกฝูง บางตัวต้องออกนอกพื้นที่ เช่น กรณีช้างป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
“ในทุกๆ ปี ช้างป่าเขาอ่างฤาไนจะพยายามเคลื่อนย้ายมาทางปราจีนบุรี สระแก้ว มุ่งหน้าไปอุทยานฯ ปางสีดา ทับลาน เดินผ่านเมืองและชุมชน เป็นความพยายามแสวงหาเส้นทางใหม่เพื่อป้องกันเลือดชิด” หมอล็อต ทิ้งท้าย
ภูมิคุ้มกันสัตว์ด้อยจากภาวะผสมเลือดชิด ระบบสืบพันธุ์มีปัญหา ช้างแท้งลูกตาย ลูกช้างตายระหว่างคลอด หรือเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (EEHV) สะท้อนความอ่อนแอทางพันธุกรรม สัตว์กลุ่มนี้เอาตัวรอดได้ยากขึ้นในสภาวะความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกใบนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
โลกร้อนรุกราน จับตา 5 โรค สัตว์สู่คน "ไวรัสรีเทิร์น"
โลกร้อนพ่นพิษ นับถอยหลัง 30 ปี ปะการังทั่วโลกตาย 90 %
2566 โลกร้อน อากาศแปรปรวน การพยากรณ์ไม่ง่าย
โลกร้อน “ลานีญา” สลับขั้ว "เอลนีโญ"ไทยเผชิญฝนน้อย-แล้งยาว 19 เดือน