ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โลกร้อนพ่นพิษ นับถอยหลัง 30 ปี ปะการังทั่วโลกตาย 90 %

สิ่งแวดล้อม
7 มิ.ย. 66
11:07
1,826
Logo Thai PBS
โลกร้อนพ่นพิษ นับถอยหลัง 30 ปี ปะการังทั่วโลกตาย 90 %
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เผยปะการังได้รับผลกระทบฟอกขาวในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา แต่พบว่า ปะการังบริเวณอ่าวไทยปรับตัวได้ดีขึ้น พร้อมเผยนักวิทย์คาดหากไม่ชวนลดโลกร้อนในอีก 30 ปีข้างหน้าปะการังอาจตายถึง 90 % ทั่วโลก

รายงานฉบับที่ 6 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ปี 2022 ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่โลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน 2030 - 2040

แต่ข้อเท็จจริงอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015 ย่อมส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศทั้งบนดินและในทะเลลึก โดยเฉพาะปะการังปะการัง (Coral) เป็นสัตว์ทะเล ประเภทสัตว์ชั้นต่ำ ไม่มีกระดูกสันหลัง

จัดอยู่ใน (Phylum Coelenterate) อยู่ใน (Class Anthozoa) มีโครงสร้างภายนอกเป็นหินปูน ที่ตัวปะการังสร้างขึ้น มาเองโดยอาศัยแคลเซียม ซึ่งมีอยู่มากมายในท้องทะเล

ตัวปะการัง อยู่ภายในโครงสร้างหินปูน เรียกว่า โพลิป ( Polyp ) มีลักษณะเป็นถุงอ่อนนิ่มขนาดเล็ก เมื่อมีอยู่จำนวนมากจะก่อตัวเป็นแนวปะการัง ซึ่ง ระบบนิเวศปะการัง มีความหลากหลายทางชีววิทยา ทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ 

แต่เมื่อน้ำทะเลร้อนจัด ระบบนิเวศเปลี่ยน การปล่อยน้ำเสีย หรือแม้แต่การใช้ครีมกันแดดของมนุษย์ที่ลงไปเล่นน้ำทะเล ก็ทำให้กิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) หรือเนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสีย สาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ต้องออกมาจากเนื้อเยื่อของปะการัง

น้ำทะเลอุณหภูมิสูง เสี่ยงปะการังฟอกขาว

รศ.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับ ไทยพีบีเอส ออนไลน์ ว่า โลกไม่ได้ร้อนเพิ่มขึ้นแค่ 1.5 องศาเซลเซียส แต่บางพื้นที่สูงขึ้นมากกว่านั้น เช่นที่ขั้วโลกเหนือ อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3 - 4 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ไม่ได้กระทบเฉพาะในชั้นบรรยากาศ แต่ยังส่งผลไปในทะเลด้วย โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่อ่อนไหวที่สุดอย่าง ปะการัง

รศ.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยปกติ ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส ก็จะทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวและอาจจะตายได้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นปีเว้นปี หรือในแต่ละพื้นที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น

ปีนี้อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศสูงถึง 40 องศาเซลเซียส จึงต้องเฝ้าระวังว่า ปะการังจะได้รับผลกระทบแค่ไหน แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่ได้รับผลกระทบคือ ออสเตรเลีย โดยเฉพาะในเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ที่มีปะการังฟอกขาวพอสมควร

ส่วนสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในไทยช่วง 10 ปีที่แล้ว ได้รับผลกระทบมาก แต่ปัจจุบันปะการังทนทานต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น และแม้จะมีการฟอกขาวก็ยังถือว่าน้อย

รศ.สุชนา อธิบายว่า อุณหภูมิทั่วโลกที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งขั้วโลกและขั้วโลกใต้ละลาย แม้ระยะทางจะห่างจากไทยกว่า 10,000 กม.อาจรู้สึกไม่ส่งผลกระทบ แต่เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลายระดับน้ำก็จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ หมายความว่าปะการังก็จะอยู่ในน้ำที่ลึกกว่าปกติ และแสงจากดวงอาทิตย์ก็จะส่องลงไปถึงปะการังยากขึ้น ก็จะทำให้ปะการังตายได้

ระดับน้ำที่สูงขึ้น ยังส่งผลต่อปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งทำให้ตะกอนก็จะตกลงไปในทะเล และเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปะการังตายได้ ทุกอย่างส่งจะผลเชื่อมโยงกันหมด

รศ.สุชนา กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า หากอุณหภูมิโลกยังสูงขึ้นและยังมีการทำกิจกรรมที่ต่อเนื่องกับทะเลและปะการัง ปะการังมากกว่า 90% ทั่วโลกจะสูญพันธุ์ไป และจะส่งผลกระทบต่อตัวสัตว์และมนุษย์เป็นห่วงโซ่ เพราะปะการังเปรียบเสมือนบ้านให้กับสัตว์นานาชนิด ถ้าไม่มีบ้าน สัตว์เหล่านั้นก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายก็จะสูญพันธุ์ไป

สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนปะการัง "ทะเลอันดามัน" ปรับตัว

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในไทยจะเกิดขึ้นทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน แต่ในทะเลฝั่งอันดามันปะการังจะมีอ่อนไหวมากกว่า เนื่องจากน้ำทะเลใส แสงแดดจะส่องถึงปะการังได้มากกว่าจึงฟอกขาวมากกว่า ขณะที่ปะการังฝั่งอ่าวไทยจะฟอกขาวน้อยกว่า เนื่องจากน้ำขุ่นแสงแดดส่องลงมาได้น้อย

นอกจากนี้ ปัญหาดินตะกอน และมลพิษก็ส่งผลกระทบต่อการฟอกขาวของปะการังเช่นกัน แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้ปะการังในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยปรับตัว ทนต่อการฟอกขาวและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้สูงกว่าปะการังฝั่งอันดามัน

รศ.สุชนา กล่าวว่า ผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พบว่า หากอุณหภูมิในทะเลอันดามันสูงเกิน 30 องศาเซลเซียส จะทำให้ปะการังฟอกขาวได้ง่าย ขณะที่ อ่าวไทยถ้าอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ปะการังอาจจะยังไม่ฟอกขาว

ทั้งนี้ พบข้อมูลว่า ปะการังในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนเคยมีการฟอกขาวที่รุนแรง โดยอุณหภูมิช่วงดังกล่าวอยู่ที่ 33-34 องศาเซลเซียสขึ้นไปจึงจะมีการฟอกขาวหนัก แต่การจัดการที่ดีในปัจจุบัน ทำให้ปะการังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ระดับหนึ่งแต่ยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังให้ถี่ขึ้น

ในช่วงเดือน เม.ย.ปี 2566 พบว่า ปะการังมีการฟอกขาว แต่ไม่มากนักโดยอยู่ที่ 5 -10 % ประกอบกับเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เมื่อฝนตกก็จะช่วยให้อุณหภูมิของน้ำลดลงเป็นสิ่งที่ดีกับตัวปะการังทำให้ไม่ฟอกขาวรุนแรง

ปะการังที่อ่อนไหวมากจะเป็นปะการังกิ่ง ปะการังก้อนจะฟอกขาวน้อยกว่าเพราะทนมากกว่า แต่เปลี่ยนแปลงได้ เพราะการที่จะฟอกขาวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของปะการัง ซึ่งปะการังก้อนอาจปรับตัวเก่งกว่าในบางพื้นที่

ปลูก-เพาะพันธุ์ พลิกฟื้นชีวิต "ปะการัง"

เมื่อปะการังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ การอนุรักษ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น และการช่วยลดภาวะโลกร้อน แม้จะเป็นการแก้ปัญหาทางอ้อม และการปลูกปะการังทดแทนถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูให้ปะการังกลับมา แต่จะทำให้กลับมาทดแทนได้ 100 % นั้นเป็นไปได้ยาก

รศ.สุชนา บอกว่า ปะการังทั่วโลกมีหลายร้อยชนิดขณะที่ปะการังที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ มีอยู่ในราว 10 กว่า ชนิดเท่านั้น ซึ่งสามารถเอาไปช่วยได้บางส่วนแต่ความหลากหลายอาจไม่เพียงพอหากสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิไม่กลับมาเหมือนเดิม ซูแซนเทลลีซึ่งเป็นอาหารของปะการังจะไม่กลับมา โดยปกติซูแซนเทลลีจะสังเคราะห์แสงและให้อาหารกับปะการังถึงร้อยละ 70 -80 % และปะการังจะจับอาหารเองอีก 20 %

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ในช่วงที่ปะการังฟอกขาว ถ้าซูแซนเทลลีกลับมาในตัวปะการัง ปะการังก็จะกลับมามีชีวิตได้ แต่การทำให้สภาพแวดล้อมกลับมาเหมือนเดิมหรือเป็นปกติก็เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าว

และย้ำว่า ปัญหาปะการังฟอกขาว ไม่ใช่ปัญหาระดับประเทศ แต่เป็นปัญหาระดับโลก เพราะหากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ก็อาจจะทำให้เกิดปะการังฟอกขาวได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลกพร้อม ๆ กัน และมาตรการแก้ปัญหา โดยกำหนดขอบเขตการใช้ปะการังเป็นแนวทางที่ดี ซึ่งหลายประเทศอยู่ระหว่างดำเนินเพื่อให้ปะการังได้มีเวลาฟื้นตัว

นอกจากนี้ต้องรักษาสมดุลยภาพระหว่างการอนุรักษ์ปะการังและการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศด้วยเช่นกัน 

ติดตามสถานการณ์สภาพแวดล้อม ภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปกับไทยพีบีเอสใน 1.5องศาจุดเปลี่ยนโลก   

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

โลกร้อนในมุม “KongGreenGreen” สิ่งแวดล้อมทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก

โลกเผชิญ “ซูเปอร์เอลนีโญ-ลานีญา” 5 ครั้ง  

ไขคำตอบ เอลนีโญ-ลานีญา ความต่างที่สุดขั้ว 

2566 โลกร้อน อากาศแปรปรวน การพยากรณ์ไม่ง่าย  

โลกร้อน “ลานีญา” สลับขั้ว "เอลนีโญ"ไทยเผชิญฝนน้อย-แล้งยาว 19 เดือน

PM 2.5 ยังวิกฤต “ผอ.กรีนพีซ” ชี้ทุกภาคส่วน ทั้ง “รัฐบาล-ประชาชน-กฎหมาย” ต้องช่วยแก้  

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง