ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คุมเข้มนำเข้า-ครอบครอง "ไซยาไนด์" ห้ามโฆษณา-ขายทางออนไลน์

อาชญากรรม
1 มิ.ย. 66
13:46
1,925
Logo Thai PBS
คุมเข้มนำเข้า-ครอบครอง "ไซยาไนด์" ห้ามโฆษณา-ขายทางออนไลน์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อธิบดีกรมโรงงาน ออกมาตรการพิเศษควบคุมการนำเข้าครอบครองการจำหน่ายและใช้สารโพแทสเซียมไซยาไนด์ เป็นการเร่งด่วน และจะใช้ไปจนกว่าคดี "แอม สรารัตน์" จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ความคืบหน้าการควบคุมดูแลการนำเข้า ครอบครอง จำหน่ายและผู้ใช้สารไซยาไนด์ หลังเกิดเหตุการณ์มีผู้ใช้ผิดวัตถุประสงค์ และต้องสงสัยว่าใช้สารไซยาไนด์เพื่อฆ่าผู้อื่น

วันนี้ (1 มิ.ย.2566) นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ ภายหลังปรากฏข่าว ว่า ผู้นำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำไปกำจัดสัตว์ หรือต้องสงสัยนำไปใช้ก่อเหตุฆาตกรรม จึงได้ออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อยกระดับการกำกับดูแลโพแทสเซียมไซยาไนด์ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

เมื่อวานนี้ (31 พ.ค.) ได้เชิญผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ เกี่ยวกับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ เข้าให้ข้อเท็จจริง และชี้แจงแนวทางการกำกับดูแลสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ รวมถึงรับทราบมาตรการพิเศษที่ออกแนบท้ายใบอนุญาต ซึ่งเงื่อนไขพิเศษจะใช้ไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เพื่อนำเป็นหลักพิจารณาถึงความจำเป็นในการออกประกาศหรือไม่ อย่างไร

สำหรับเงื่อนไขพิเศษที่กำหนด ได้จัดกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้าโพแทสเซียมไซยาไนด์เป็น 3 กลุ่ม ตามวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ประกอบด้วย กลุ่มผู้นำเข้า สำหรับกิจการโรงงาน และกลุ่มผู้นำเข้าสำหรับห้องปฏิบัติการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ต้องยื่นข้อมูลผู้ใช้ (End User) พร้อมระบุวัตถุประสงค์การใช้ ประกอบการแจ้งนำเข้าก่อนนำของออกจากด่านศุลกากร ในรูปแบบเอกสารที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น และต้องรายงานทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการครอบครองแบบเรียลไทม์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการชุบล้างโลหะขนาดเล็ก ต้องยื่นข้อมูลผู้ใช้ (End User) พร้อมระบุวัตถุประสงค์การใช้ ประกอบการแจ้งนำเข้าก่อนนำของออกจากด่านศุลกากร และต้องรายงานปริมาณการครอบครองทุก 3 เดือน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

อีกทั้งกำหนดให้ใบอนุญาตฉบับใหม่มีอายุไม่เกิน 1 ปี จากเดิมไม่เกิน 3 ปี และต้องมีข้อมูลผู้จำหน่าย (Trader) และผู้ใช้ (End User) ประกอบการพิจารณาอนุญาต หากพบว่าผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข พนักงานเจ้าหน้าที่จะพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตฯ และต้องแจ้งต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกกรณี

นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ขอความร่วมมือ สคบ. เพื่อห้ามมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายโพแทสเซียมไซยาไนด์ ในแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าออนไลน์ทุกประเภท และอยู่ระหว่างการยกร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการโฆษณา และนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย
 
สำหรับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 กรณีผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย (Trader) หรือผู้ใช้ (End User) นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง