ผู้ประกอบการเล็ก-ใหญ่ บอกว่าหากมีการปรับขึ้นจะส่งผลกระทบหลายด้าน อย่างเช่น ภาคการเกษตรก็มีความกังวล เพราะจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่สูงอยู่แล้ว
เจ้าของแปลงผักกระทบหนัก "450 บาทจ่ายไม่ไหว"
นาข้าวใน ต.ขุนศรี อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี จำนวน 20 ไร่ จำเป็นต้องใช้แรงงานเพื่อช่วยในการช่วยหว่านปุ๋ย คิดค่าใช้จ่ายแบบเหมาไร่ละ 60 บาท เจ้าของนาบอกว่า นี่คือต้นทุนส่วนหนึ่งของการปลูกข้าว ไม่นับรวมค่าจ้างในขั้นตอนอื่นๆ ซึ่งกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการปลูกข้าว ยังต้องจ่ายค่าจ้างในอีกหลายขั้นตอน เช่น การทำเทือกเพื่อเตรียมปลูกข้าว คิดค่าใช้จ่ายไร่ละ 120 บาท, ฉีดยาไร่ละ 50 บาท และกังวลว่าหากรัฐมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท จะส่งผลให้ค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้นด้วย
ขณะที่ชาวสวนผักคะน้า ต้องจ้างแรงงานทั้งไทยและต่างด้าว ในขั้นตอนการปลูกรวมทั้งเก็บเกี่ยววัชพืช เจ้าของสวนบอกว่า การจ่ายค่าแรงเฉลี่ยวันละ 280- 300 บาท ถ้าหากต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาท ไม่สามารถจ่ายได้ เนื่องจากพืชเกษตรราคาไม่แน่นอน โดยเห็นว่าขณะนี้ต้นทุนการผลิตภาคเกษตรสูงอยู่แล้ว รัฐบาลควรช่วยลดต้นทุน เช่น ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยา ราคาน้ำมันให้ลดลง และควบคุมราคาสินค้า ไม่ใช่การเพิ่มต้นทุน
ขณะที่เจ้าของร้านโชห่วยในชุมชนบาง บอกว่าการปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลให้ลูกจ้างในภาคเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีกำลังซื้อมากขึ้น แต่เชื่อว่าราคาสินค้าจะสูงขึ้นตามไปด้วย
สศก.ชี้ขึ้นค่าแรก กระทบภาคเกษตรแน่นอน
ทางด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรแน่นอน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพืชแต่ละชนิด ซึ่งค่าแรงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิต โดยเห็นว่าปัญหาใหญ่ที่กระทบต้นทุนการผลิตมากที่สุด มาจากปัจจัยการผลิต เช่น ต้นทุนอาหารสัตว์ ปุ๋ย ยา ส่วนปัญหาค่าแรงเกษตรกรบางส่วนก็เริ่มมีเกษตรกร นำเครื่องจักรไปใช้การผลิตแล้ว
ก่อนหน้านี้ สศก. มีการศึกษาต้นทุนภาคการเกษตร มีอัตราส่วนต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนการผลิตที่ร้อยละ 17.4 โดยเฉลี่ยใช้แรงงานเป็นหลักในกิจกรรมการผลิต ขณะที่ภาคบริการมีอัตราส่วนร้อยละ 20.2 และ ภาคอุตสาหกรรมมีอัตราส่วนร้อยละ 9 เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผลิต
กลุ่มแรงงานขอ รบ.ใหม่ปรับสวัสดิการ-ค่าครองชีพลดลง
แรงงานสมุทรปราการ เห็นด้วยกับรัฐบาลก้าวไกล ปรับเพิ่มค่าแรง 450 บาท แต่ขอเสนอให้มีการปรับสวัสดิการแรงงาน และปรับค่าครองชีพลดลงไปพร้อมกันด้วย
ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่ย่านบางปูใหม่ จ.สมุทรปราการ พบแรงงานระบุค่าแรงขั้นต่ำวันละ 353 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายกว่า 300 บาท/วัน ทำให้ต้องประหยัดอดออม เพื่อเก็บเงินบางส่วนส่งไปให้ครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัด และไว้ใช้จ่ายค่าเช่าบ้าน ค่างวดรถ และส่งลูกเรียนหนังสือ
ในช่วงสิ้นเดือนภาระที่ต้องรับผิดชอบ กับค่าแรงรายวัน ไม่เพียงพอกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน แม้จะเพิ่งมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่ค่าครองชีพก็ทยอยปรับเพิ่มขึ้นเหมือนกัน
เมื่อนโยบายของพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งพรรคก้าวไกล ที่เสนอ 450 บาท และพรรคเพื่อไทย เสนอ 600 บาท จึงเป็นความหวังของพี่น้องแรงงานในจังหวัดสมุทรปราการ เพราะหากมีการปรับเพิ่มตามนโยบายของ 2 พรรคจริง ภายในปีนี้ ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แรงงาน
แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็ทำให้แรงงานบางคน กังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงาน ที่นายจ้างอาจจะเลิกจ้างกะทันหัน หรือลด OT หรือค่าทำงานล่วงเวลาที่เป็นรายได้เสริม และค่าครองชีพก็น่าจะปรับเพิ่มตามกัน เหมือนทุกครั้งที่ค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นโดยภาระค่าอาหาร ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น เป็นสิ่งที่กระทบชีวิตของแรงงานมากที่สุดในขณะนี้
รอง ปธ.สภาอุตฯ ชี้ต้นทุนจริงคือต้นทุนแฝง
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่าต้นทุนจริงที่แฝงอยู่ในค่าครองชีพของประชาชน คือ ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ และยังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาเพราะระบบสัปทาน หรือ ทุนผูกขาด ถูกครอบงำโดยทุนใหญ่ ตั้งแต่ระดับนโยบาย จนถึงระบบปฎิบัติการ สร้างความไม่เป็นธรรม และการทุจริตคอร์รัปชัน
ดังนั้น รัฐบาลใหม่ควรเข้ามาแก้ปัญหาทุนผูกขาด ลดการทุจริตคอรัปชั่น และ ผลักดัน "นโยบายรัฐสวัสดิการ" ให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม จะทำให้ค่าครองชีพลดลง และยืนยันว่าภาคธุรกิจพร้อมจ่ายค่าแรงด้วยนโยบาย Pay by skill ตามประสิทธิภาพฝีมือการผลิต ซึ่งภารกิจเร่งด่วน รัฐบาลต้องเพิ่การ Up-skill และ Re-skill ให้แรงงานมีคุณภาพเหมาะสมกับค่าแรง เป็นการเพิ่มแข่งขันของไทย
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เห็นว่า การขึ้นค่าแรง 450 บาท/วัน ต้องทำแบบทยอยปรับ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตโควิด และอยู่ในช่วงฟื้นฟู พร้อมเสนอ 5 แนวทางที่รัฐบาลใหม่ทำควบคู่ไปกับการปรับขึ้นค่าแรง
- การจูงใจให้นอกระบบที่มีอยู่ร้อยละ 52 เข้ามาอยู่ในระบบ
- การยกระดับพัฒนาทักษะขีดความสามารถแรงงาน ซึ่งวันนี้ผลิตภาพแรงงานไทยอยู่ในอันดับ 4 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ บรูไนและมาเลเซีย
- การช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับแรงงานรายวัน
- การลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการทั้งค่าไฟฟ้า พลังงาน ก๊าซ
- มาตรการรัฐที่ส่งเสริมการขึ้นค่าแรง โดยนำมาหักลดภาษีได้ 2 เท่า 2 ปี