ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"กัญจนา" เผยเบื้องหลังช่วย "พลายศักดิ์สุรินทร์" กลับไทย

สิ่งแวดล้อม
27 พ.ค. 66
13:10
4,729
Logo Thai PBS
"กัญจนา" เผยเบื้องหลังช่วย "พลายศักดิ์สุรินทร์" กลับไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หากเป็นไปตามไทม์ไลน์ "พลายศักดิ์สุรินทร์" ช้างไทยที่พลัดพรากจากไทยไปนานถึง 21 ปีจะกลับแผ่นดินเกิดในวันที่ 1 ก.ค.นี้ แต่เบื้องหลังกว่าช้างจาก จ.สุรินทร์ เชือกนี้จะได้กลับมาใช้ชีวิตในบั้นปลาย ต้องใช้เวลาเกือบครึ่งปี ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการทวงคืนพลายศักดิ์สุรินทร์ ช้างไทยในศรีลังกา

น.ส.กัญจนา บอกว่า ปฐมเหตุที่ได้รับรู้เรื่องราวของพลายศักดิ์สุรินทร์ หรือชื่อที่ศรีลังกาเรียกว่า "มุทุราชา" เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค.2565 ผ่านการบอกเล่าของ น.สพ.สิทธิเดช มหาวังสากุล จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้ติดต่อผ่านมาทางเลขาฯ ว่าอยากให้ช่วยพา พลายศักดิ์สุรินทร์ ได้กลับมารักษาในไทย เพราะมีแผลฝีใหญ่มาก อีกทั้งสภาพที่อยู่ค่อนข้างแย่ ช้างไม่ได้รับการดูแลอย่างดี จนมีสภาพผอมโซ จากนั้นหมอได้ส่งภาพของพลายศักดิ์สุรินทร์มาให้ดู

อ่าน : ทวงคืน "พลายศักดิ์สุรินทร์" จากศรีลังกากลับไทย

ภาพที่เห็นพลายศักดิ์สุรินทร์ รู้สึกเวทนามากทั้งที่พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็นช้างที่สง่างาม มีงายาวโค้งสวยงามแต่สภาพร่างกายทรุดโทรมเพราะถูกใช้งานหนักมาก คนที่ดูแลในวัดแห่งนี้ไม่มีความรู้ในการดูแลช้าง เป็นเพียงคนขับรถ

น.ส.กัญจนา บอกว่า เมื่อเห็นภาพแล้วรู้เพียงว่าอยากช่วยเหลือช้างเชือกนี้ให้มีสภาพที่ดีขึ้น พ้นจากความเจ็บป่วย จึงหารือกับน้องชาย วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีส่วนดูแลเรื่องช้างและดูแลโรงพยาบาลช้าง อยากให้ช่วย

น.ส.กัญจนา-นายวราวุธ ศิลปอาชา

น.ส.กัญจนา-นายวราวุธ ศิลปอาชา

น.ส.กัญจนา-นายวราวุธ ศิลปอาชา

อ่าน : ผมจะไม่ทิ้ง! เปิดใจควาญช้าง "พลายศักดิ์สุรินทร์" รอพากลับบ้าน

ประกอบกับ ทูตพจน์ หาญพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา หนึ่งในเบื้องหลังสำคัญและเป็นคนแรกๆ ที่ประสานให้ทีมสัตวแพทย์ไทย เดินทางไปดูแลสุขภาพของพลายศักดิ์สุรินทร์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการพาช้างไทยเชือกนี้กลับบ้าน

สิ่งแรกคือเดินเรื่องในการช่วยนำ พลายศักดิ์สุรินทร์ ออกจากวัดในศรีลังกาก่อน เพราะเป็นกรรมสิทธิ์ของวัด แต่โชคดีที่เจ้าอาวาสเมตตาและปล่อยช้างออกจากวัด จึงนำมาอยู่ที่สวนสัตว์ โดยส่งควาญจากไทยที่เคยดูแลช้างเชือกนี้ไปดูแลที่ศรีลังกา

น.ส.กัญจนา บอกว่า ในระหว่างที่ส่งควาญทองสุก มะลิงาม หรือ ควาญพงศ์ ซึ่งเคยเลี้ยงพลายศักดิ์สุรินทร์ จนถึงอายุ 8 ปีก่อนจะเดินทางไปศรีลังกาเมื่อปี 2544 ด้วยเครื่องบิน C-130 ซึ่งการส่งควาญพงศ์ไปเพื่อสร้างความคุ้นชิน เพราะช้างเชือกนี้อยู่ต่างบ้านมานานกว่า 21 ปี และเดิมควาญพงศ์ ตั้งใจ อยู่ช่วงสั้นๆ เพียงแค่ 1 เดือน แต่ก็ได้อยู่ดูแลยาวเกือบ 6 เดือน

เจ้าหน้าที่ดูแลแผลของพลายศักดิ์สุรินทร์

เจ้าหน้าที่ดูแลแผลของพลายศักดิ์สุรินทร์

เจ้าหน้าที่ดูแลแผลของพลายศักดิ์สุรินทร์

ในส่วนของตัวเองก็เดินเรื่องตลอดว่าจะนำช้างเชือกนี้กลับอย่างไร มีการส่งทีมสัตวแพทย์ไปถึง 2 ครั้ง ในช่วงเดือน ส.ค. และเดือน พ.ย.2565 โดยรอบหลังนำยาไปเต็มที่ เพราะมีแผลฝีที่สะโพกขนาดใหญ่มาก

ทุกคนประเมินและเห็นตรงกันว่า วิธีรักษาดีที่สุดคือต้องพาพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมาไทย เพราะมีความชำนาญ เดิมคาดว่าจะกลับมาภายในช่วงต้นปี 2566 แต่ช้างมีอาการตกมัน จึงเลื่อนการเดินทางและเว้นมาอีก 3 เดือน

อ่าน : คาดเลื่อนส่งกลับ "พลายศักดิ์สุรินทร์" 1-2 เดือนยังบาดเจ็บ-ตกมัน

น.ส.กัญจนา บอกว่า นับจากเดือน มี.ค. ยังคงติดตามเรื่องมาตลอด และ ทูตพจน์ ก็ทำกระบวนการทางเอกสาร เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่อยู่ในกฎหมายไซเตส การนำเข้าส่งออกจึงค่อนข้างละเอียดอ่อน กระทั่งเอกสารทุกอย่างเรียบร้อย จึงประสานเรื่องการสร้างกรงพิเศษสำหรับขนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์

โดย ทางกรมอุทยานฯ ทำเรื่องของบ ซึ่งต้องขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้เซ็นอนุมัติงบกลาง 24.7 ล้านบาทให้เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งการประสานใช้เครื่องบิน Ilyushin IL-76 จากรัสเซีย ได้เที่ยวบินเร็วสุดคือ 1 ก.ค.นี้

อ่าน : "IL-76" เครื่องบินเตรียมรับ "พลายศักดิ์สุรินทร์" กลับบ้าน

ขณะนี้กรงใส่ พลายศักดิ์สุรินทร์ เริ่มต่อแล้ว คาดว่าจะเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ และจะส่งสัตวแพทย์พร้อมควาญพงศ์ กลับไปดูแลจนถึงวันกลับ เพราะช้างยังโดนล่ามโซ่อยู่ เพื่อเตรียมประเมินสุขภาพและปรับให้ช้างคุ้นชิน

น.ส.กัญจนา ยอมรับว่า สำหรับภารกิจพาพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทย แม้จะดูไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายนัก รวมทั้งจะไม่สำเร็จถ้าไม่มีการร่วมมือจากหลายหน่วยงานของรัฐบาลไทย, ทูตพจน์, นายกรัฐมนตรี, วราวุธ, สัตวแพทย์ และ ควาญพงศ์ ในการทำภารกิจนี้

จึงถือว่าพลายเชือกนี้โชคดีกว่าช้างไทยตัวอื่นๆ ที่ถูกส่งไปและไม่มีโอกาสกลับบ้านเกิดอีกเลย จึงไม่อยากเห็นช้างไทยหรือสัตว์ป่าอื่นๆ ถูกส่งไปต่างแดนอีก ซึ่งตามแผนตัวเองจะเดินทางไปรับพลายศักดิ์สุรินทร์ด้วยตัวเอง และจะดูแลในบั้นปลายของพลายในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง

ควาญทองสุก ดูแลพลายศักดิ์สุรินทร์

ควาญทองสุก ดูแลพลายศักดิ์สุรินทร์

ควาญทองสุก ดูแลพลายศักดิ์สุรินทร์

สำหรับ "พลายศักดิ์สุรินทร์" หรือถูกเรียกในภาษาศรีลังกาว่า มุทุราชา (Muthu Raja) หรืออีกชื่อที่ควาญเรียกว่า "บิลลี่" เป็นช้างไทยที่รัฐบาลไทย มอบให้เห็นทูตสันถวไมตรีแก่รัฐบาลศรีลังกา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 โดยรัฐบาลศรีลังกาได้โอนกรรมสิทธิ์ พลายศักดิ์สุรินทร์ ให้แก่วัดคันเดวิหาร เพื่อทำหน้าที่ขนส่งพระบรมสารีริกธาตุ ปัจจุบันคาดว่าอายุประมาณ 30 ปี

อ่าน : จนท.ไปศรีลังกา เตรียมร่างกาย “พลายศักดิ์สุรินทร์” ก่อนส่งกลับไทยต้น ก.ค.66

ข่าวที่เกี่ยวข้อง