ก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
หลังจากที่รัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกรัฐประหาร โดยคณะ รสช.ในปี 2534 มีการตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้นมาอีก 3 ครั้ง ก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2535
ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น
- อันดับ 1 พรรคสามัคคีธรรม ได้คะแนน 79 ที่นั่ง
- อันดับ 2 พรรคชาติไทย ได้คะแนน 74 ที่นั่ง
- อันดับ 3 พรรคความหวังใหม่ ได้คะแนน 72 ที่นั่ง
- อันดับ 4 พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 44 ที่นั่ง
- และพรรคอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 360 ที่นั่ง
แต่ผู้นำของพรรคสามัคคีธรรม "ณรงค์ วงศ์วรรณ" ต้องถอนตัวออกจากตำแหน่ง (ว่าที่) นายกรัฐมนตรีเพราะถูกสงสัยว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด
แกนนำพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 จึงได้เข้าพบ "พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์" เพื่อชักชวนให้มาเป็นหัวหน้าพรรค และจะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี คนต่อไป
ใครคือ พล.อ.อ.สมบุญ มือประสานสิบทิศ
พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นนายทหารอากาศ ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายทหารคณะ รสช. และมีไมตรีที่เป็นมิตรกับนักการเมือง จนถูกเรียกว่าเป็น "มือประสานสิบทิศ"
ก่อนที่แกนนำพรรคชาติไทยจะขึ้นไปพบถึงบนเครื่อง เพื่อเชิญเป็นหัวหน้าพรรคในขณะที่เครื่องบินที่ พล.อ.อ.สมบุญ นั่งกลับมาจากจีน เพิ่งลงจอดที่สนามบินดอนเมืองและยังไม่ทันได้ลงจากเครื่อง
พล.อ.อ.สมบุญ ก็เคยเป็นคนที่ช่วยก่อตั้งพรรคสามัคคีธรรมและชักชวนให้ ณรงค์ วงศ์วรรณ มาเป็นหัวหน้าพรรคมาก่อน โดยให้เหตุผลว่า
อยากให้พี่ณรงค์เป็นนายกฯ คนอย่างผม เป็นทหารคำไหนคำนั้น
แต่หลังจากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับ ณรงค์ วงศ์วรรณ ที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันยาเสพติด ตำแหน่งนายกฯ ก็วนกลับมาหา พล.อ.อ.สมบุญ อีกครั้ง
มีการประชุมกันหลายครั้ง ที่เรือนรับรองกองทัพอากาศ และอีกหลายที่ ใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ ท้ายที่สุด พล.อ.อ.สมบุญ เข้าพูดคุยกับ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. ในขณะนั้น จนกระทั่งได้ข้อสรุปที่ว่า ให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนต่อไปแทน
ถ้าเป็นนายกฯ เท่ากับเห็นแก่ตัว ถ้ารับผมก็ไม่สมาร์ต คนจะหาว่าทำเพื่อตัวเอง เพราะที่ผ่านมาก็ให้สัมภาษณ์สื่อ ปราศรัยหาเสียงบนเวทีว่าไม่เป็นนายกฯ
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีการเรียกประชุมที่กองทัพภาคที่ 1 โดย พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี พร้อมด้วยนักการเมืองอย่าง บรรหาร ศิลปอาชา, เสนาะ เทียนทอง, สมัคร สุนทรเวช, มนตรี พงษ์พานิช และ พล.อ.อ.สมบุญ ก็ถูกเชิญตัวมาเช่นกัน
ด้วยเหตุผลเดิมที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและพรรคร่วม ยังคงต้องการให้ พล.อ.อ.สมบุญ รับตำแหน่งนายกฯ แม้ว่าตัวของ มือประสานสิบทิศ จะยืนยันไม่เป็นนายกฯ และเสนอชื่อบุคคลอื่นๆ แต่ก็ไม่เป็นผล
พี่สมบุญ เรื่องที่เกิดคราวนี้ก็เพราะพี่นะ ถ้าพี่รับเป็นนายกฯ เสียตั้งแต่ตอนนั้น ก็ไม่เกิดเรื่อง พี่ไม่ยอมรับมัน จึงเกิดเรื่อง เพราะฉะนั้นคราวนี้พี่ปฏิเสธไม่ได้ ลูกผู้ชายพี่ไปกราบพระแล้วต้องรับปากจะไม่กลับคำ
พล.อ.อ.สมบุญเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้น ที่ เสนาะ เทียนทอง พูดด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ในที่ประชุม แต่ด้วยใจที่มุ่งมั่นไม่รับตำแหน่งนายกฯ พล.อ.อ.สมบุญ จึงเดินทางไปพบ พล.อ.ชาติชาย ที่บ้านพักซอยราชครู ยืนยันไม่รับตำแหน่งและขอให้ พล.อ.ชาติชาย ช่วยจัดการเรื่องนี้ แล้วตัวมือประสานสิบทิศ ก็เก็บตัวเงียบที่บ้านพัก
จาก "มือประสานสิบทิศ" เป็น "ชุดขาวรอเก้อ"
แม้จะวิ่งเต้นวุ่นวายหาผู้รับตำแหน่งนายกฯ กันแค่ไหน แต่ผู้ที่มีอำนาจเสนอชื่อนายกฯ คือ ประธานรัฐสภา ซึ่งก็คือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ในขณะนั้น และถึงแม้ พล.อ.อ.สมบุญ จะวิ่งหนีจากตำแหน่งนายกฯ แค่ไหน สุดท้ายในขณะที่เก็บตัวอยู่ที่บ้าน ศ.ธรรมนูญ ลัดพลี ก็โทรศัพท์มาบอกให้แต่งตัวเตรียมรับพระบรมราชโองการ เพราะมีคำสั่งมาแล้ว
ภรรยาก็ถามว่าจะแต่งตัวจริงๆ หรือ ไหนบอกจะไม่เป็น ผมก็บอกว่าไม่เป็นแต่ถ้าเขาบังคับก็คงต้องเป็น
บทสนทนาในบ้านพัก พล.อ.อ.สมบุญกับภรรยา เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2535
ครั้นเมื่อประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งฯ ออกมาแล้ว กลับเป็นเรื่อง "พลิกโผ" เพราะนายกฯ คนใหม่คือ อานันท์ ปันยารชุน
แนวคิดของ ดร.อาทิตย์ ที่ปรึกษากับ ดร.ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล ซึ่งเป็นเลขาธิการสภาฯ ขณะนั้น ต้องการผู้นำประเทศชั่วคราว เพื่อมายุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ให้ประเทศเข้าสู่สภาวะปกติ และแม้จะจบพฤษภาทมิฬ แต่หากยังมีการสืบทอดอำนาจ ก็อาจเกิด มิถุนาทมิฬ กรกฎาทมิฬ อีกต่อได้
ขอเชิญ ท่านอานันท์ มายุบสภาให้หน่อย เพราะต้องเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น จึงจะยุบสภาได้...ผมไม่สามารถเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นนายกฯ ได้หรอก เพราะบ้านเมืองพังแน่ นองเลือดกันแน่นอน
ทาง ดร.อาทิตย์ เองก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมือง ที่พยายามจะให้ ดร.อาทิตย์ ทูลเกล้าฯ ถวายนายกฯ ชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ให้ได้ ถึงขนาดที่ยื่นข้อเสนอตำแหน่ง รมว.กลาโหมให้
ประชาชนไม่ยอมรับแน่ ถ้าเสนอไปมันก็เป็นการสืบทอด เหมือนสมยอมให้กับพวกนี้ได้ทำอะไรต่อไป แล้วเราก็รู้มาด้วยว่าเบื้องหลังหลายคนหวังเรื่องของโปรเจกต์ หวังจะเป็นรัฐมนตรีกัน ยังไงก็เสนอ พล.อ.อ.สมบุญไม่ได้
หลังจากที่ ดร.อาทิตย์ ไม่ได้เสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ เป็นนายกฯ ก็ได้โทรศัพท์ไปขอโทษพร้อมอธิบายเหตุผล และ พล.อ.อ.สมบุญ ตอบกลับว่า "ไม่เป็นไร ตามสบาย รู้เหตุผลอยู่แล้ว"
เมื่อจบเรื่อง คนอื่นตกใจ แต่ผมหัวเราะ เหมือนยกภูเขาออกจากอก คืนนั้นนอนหลับสบาย รู้สึกว่าหมดเวรแล้ว
ข่าว : เลือกตั้ง2566 : "วันนอร์" เผยคุณสมบัติ "ประธานสภา" ขอพรรคร่วมอย่าขัดแย้ง
ก่อนที่ผมจะทูลเกล้าฯ เสนอชื่อ ท่านอานันท์ เป็นนายกฯ ก็มีการคาดการณ์กันว่า พล.อ.อ.สมบุญ จะขึ้นเป็นนายกฯ ซึ่งตัวท่านเองก็แต่งชุดขาวตั้งโต๊ะหมู่ มีพานพุ่มดอกไม้ พระบรมฉายาลักษณ์ นักข่าวไปรอกันที่บ้านท่านสมบุญ แต่เมื่อปรากฏว่าทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง ท่านอานันท์
ท่านสมบุญ ก็เดินกลับขึ้นบันไดไปเปลี่ยนเสื้อ ผมเห็นท่านยิ้มนะ ผมว่าท่านคงจะรู้สึกโล่งอกในวินาทีนั้นเหมือนกัน
เหตุการณ์นั้น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ถูกขนานนามว่าเป็น "วีรบุรุษประชาธิปไตย"
ด้าน พล.อ.อ.สมบุญ ก็กลายเป็นตำนาน "ชุดขาวรอเก้อ" คือแต่งตัวเต็มยศพร้อมรับตำแหน่งนายกฯ แต่รอจนเก้อที่สุดก็ไม่ได้เป็น
พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ถึงแก่อนิจกรรมที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยวัย 81 ปี เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2556
อ่าน : พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 81 ปี
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม