ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง2566: กกต.น้อมรับผิดเลือกตั้งล่วงหน้าปัญหายับ-ยันไม่มีคะแนนตกน้ำ

การเมือง
8 พ.ค. 66
13:49
3,574
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566: กกต.น้อมรับผิดเลือกตั้งล่วงหน้าปัญหายับ-ยันไม่มีคะแนนตกน้ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กกต.น้อมรับความผิดพลาด กปน. กรอกเขตผิด ยันหากมีเลขรหัส 5 ตัว ส่งถึงแน่นอนไม่มี "คะแนนตกน้ำ" ไม่มีซองเปล่า ยัน 14 พ.ค.นี้ไม่ผิดพลาดซ้ำ ไม่กังวลถูกยื่นศาลตีความเป็นโมฆะ

วันนี้ (8 พ.ค.2566) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการตั้งกรรมการตรวจสอบบัตรเลือกตั้งเมื่อปัญหาบัตรเขย่ง ว่า ไม่อยากใช้คำว่าเขย่ง ถ้าบัตรของผู้ลงคะแนนถูกส่งไปที่เขตอื่นบัตรจะไม่เท่ากัน จึงต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้จำนวนบัตรตรงกับคนที่มาลงทะเบียน ซึ่งการตรวจเช็กมีหลายขั้นตอน

ส่วนคำถามที่ว่าคะแนนจะปลอดภัยอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า ในซองใส่บัตรเลือกตั้ง เมื่อวานนี้ (7 พ.ค.) จะมีช่องให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) 1 คน เซ็นชื่อกำกับแล้วเอาเทปใสปิดไว้ หากใครทำอะไรเกี่ยวกับซองเลือกตั้งจะทราบทันที โดยไปรษณีย์มีหน้าที่ส่งซองบัตรเลือกตั้งเท่านั้น หากประชาชนไม่มั่นใจสามารถตรวจสอบได้ที่เขตเลือกตั้ง ว่าถูกเปิดหรือมีรอยชำรุดหรือไม่

อ่านข่าวเพิ่ม เลือกตั้ง 2566 : ล่าชื่อถอดถอนกกต.ทะลุ 1 ล้านคน-ปัญหาเพียบ

เมื่อถามว่าประชาชนกังวลเรื่องการจ่าหน้าซองที่ไม่ตรงตามเขต จะทำให้คะแนนไม่ไปยังเขตเลือกตั้ง นายแสวง กล่าวว่า คนจ่าหน้าซองไม่ใช่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่เป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) คนที่แจกบัตร ถ้าจ่าหน้าซองถูกต้องก็ไปตามระบบ

ส่วนปัญหาที่อาจจะมีการกรอกเขตผิด หรืออาจจะเขียนเขตจังหวัดผิด รวมถึงเลขสองตัวสุดท้ายที่เป็นเขตเลือกตั้งผิดนั้น กกต.จะยึดถือรหัส 5 ตัวสุดท้ายที่อยู่แถวล่างเป็นหลัก เพราะตัวเลขนี้มาจัดลำดับที่มาจากติ้วเล็กซึ่งตรงกัน 

หากกรอกไม่ครบ คณะกรรมการก็จะเข้ามาวินิจฉัย โดยเอาเอกสารลำดับที่ลงคะแนนในวันนั้นมาวินิจฉัยว่า จะต้องลงไปที่เขตใด

กรณีซองบัตรเลือกตั้งที่ไม่ได้กรอกอะไรเลย คิดว่ากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ไม่น่าจะไม่กรอกอะไรเลย อาจจะมีกรอกครบแต่ผิดพลาดบ้าง หรือหากกรอกไม่ครบ ก็ไม่สามารถส่งไปที่เขตเลือกตั้งได้อยู่แล้ว

เมื่อถามว่าถึงแม้จะมีระบบซับซ้อน แต่หากเกิดความผิดพลาดจากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ที่กรอกผิดเอง เนื่องจากคนที่กรอกตัวเล็ก และจ่าหน้าซองเป็นคนละคนกัน

นายแสวง กล่าวว่า เป็นระบบที่ออกมาให้ยืนยันกันและกัน เพราะโอกาสที่เขตเลือกตั้งผิดอาจจะมีบ้าง ซึ่งเขตเลือกตั้งที่อยู่แถวบนของซองอาจจะผิดพลาดได้ แต่รหัสที่กรอกด้านล่างจะผิดพลาดไม่ได้

ย้ำว่ารหัส 5 หลักคิดเอาเองไม่ได้ และผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้กรอกเอง แต่เป็น กปน.อำนวยความสะดวกให้

ผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงคลิปที่เผยแพร่ทางออนไลน์ เป็นการกรอกรหัสผิดโดยเจ้าหน้าที่ ทำให้ไม่มั่นใจว่าคะแนนจะไปอยู่ที่เขตหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าที่กรอกรหัสผิดประชาชนทราบหรือไม่ว่าเป็นรหัสเลือกตั้ง ไม่ใช่รหัสไปรษณีย์

รหัสนี้เป็นรหัสเฉพาะ จะบอกว่ารหัสผิด ผมว่าประชาชนเอาไปเทียบกับรหัสไปรษณีย์หรือไม่

อ่านข่าวเพิ่ม เลือกตั้ง2566 : ไปไม่ทัน-ไม่ได้ใช้สิทธิทำอย่างไร?

ยอมรับความผิดพลาดกปน.เขียนรหัสเขตผิด

เมื่อถามว่า กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) บางจุดเลือกตั้งยังไม่เข้าใจว่าต้องดำเนินการอย่างไร เพราะบางที่ กปน. บอกว่า ไม่ต้องเขียนรหัสเขตก็ได้ เลขาธิการ กกต.ระบุว่า เป็นความผิดพลาดของ กปน. เราจึงต้องเขียนให้เต็ม เพราะมีโอกาสผิดพลาด "ตัวเลขเขตแถวบน อาจมีความผิดพลาด แต่รหัสเขตสามารถยืนยันได้"

ผู้สื่อข่าวได้เปิดภาพที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ เป็นภาพซองใส่บัตรเลือกตั้งเปล่า โดยไม่มีการเขียนรหัสเขตให้นายแสวงดู นายแสวงบอกว่า ต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบ และย้อนกลับไปดูเอกสารที่หน่วยเลือกตั้งว่าต้องส่งไปที่เขตไหน

เมื่อถามย้ำว่าขั้นตอนวินิจฉัยจะทำได้อย่างไร เพราะค่อนข้างยาก นายแสวง ยอมรับว่ายุ่งยากมาก แต่จะมีคนที่มีความชำนาญ ซึ่งถูกแต่งตั้งจาก กกต. และไปรษณีย์ไทยโดยยังไม่เห็นซองเปล่านั้น

ยืนยันว่าเสียงของประชาชนจะไม่ตกน้ำ หรือเป็นบัตรเสีย

เลขาธิการ กกต. กล่าวอีกว่า กกต.กลาง มีวิธีการปฏิบัติ และคู่มือ กกต. ซึ่งย้ำไปว่า หน้าซองบัตรเลือกตั้งต้องถูกต้อง อะไรผิดก็ได้แต่นี่ห้ามผิด เพื่อให้เจตจำนงของประชาชนเป็นไปตามที่ออกเสียง ซึ่งการหย่อนบัตรเลือกตั้งจะหย่อนหีบใดไม่สำคัญ เพราะเดี๋ยวจะมีการคัดแยกอยู่แล้ว หากซองเลือกตั้งมีปัญหาต้องมีการคัดแยก

ยืนยันว่าในวันที่ 14 พ.ค.นี้ จะไม่เกิดข้อผิดพลาดแบบนี้อีก ใส่บัตรเลือกตั้งสลับหีบ ก็มีสีระบุชัด ซึ่งมีโอกาสสลับได้ แต่ตอนนับคะแนนต้องมีการตรวจสอบให้ตรงกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

เมื่อถามว่ากระแสสังคมวิจารณ์มากมาย จนเกิดแฮชแท็ก กกต. มีไว้ทำไมนั้น นายแสวง กล่าวว่า ก็เป็นความรู้สึกของประชาชน กกต. ก็ได้รับทราบประชาชนส่วนหนึ่งที่มองเราแบบนั้น ก่อนย้ำถึงกำชับการทำงานต่อ กปน.ไปแล้ว ทั้งการติดเอกสารหน้าหน่วย การจ่าหน้าซอง เขียนหมายเหตุส่งมาที่ กกต.

ส่วนที่พรรคก้าวไกล จับตาดูและเตรียมฟ้อง กกต. นายแสวง มองเป็นสิทธิของพรรคการเมือง ไม่ได้กังวลอะไร ก่อนยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เป็นโมฆะ หากมีผู้ยื่นศาลตีความสามารถไปต่อได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง2566 : กกต. ทำคู่มือ "อักษรเบรลล์" อำนวยความสะดวกผู้พิการสายตาไปเลือกตั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง