วันนี้ (3 พ.ค.2566) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ทางทส.จะประกาศใช้ค่าดัช นีคุณภาพอากาศ (AQI) ตามค่ามาตรฐาน PM 2.5 ใหม่ในประเทศ ที่จะปรับจาก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก.ต่อลบ.ม.) เป็น 37.5 มคก.ต่อลบ.ม.หลังมีการหารือกับทุกภาคส่วนปรับปรุงค่ามาตรฐานให้เป็นสากลมากขึ้น ซึ่งเป็นไปหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก และกำหนดเป้าหมายเฉพาะช่วงเวลา ที่เป็นช่วงแบ่งระดับการแจ้งเตือนดัชนีคุณภาพอากาศตามเดิมใน 5 ระดับค่าสี คือ ฟ้า เขียว เหลือง ส้ม และแดง
นอกจากนี้จะปรับการเตือนมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ระดับสีแดงจากเดิมค่า AQI 91 เป็น 75.1 มคก.ต่อลบ.ม.เป็นไปตาม (ร่าง) ประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่องดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย พ.ศ. …เพื่อปรับความหมายและข้อความคำเเจ้งเตือนการแนะนำการปฏิบัติตนสำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพใหม่
นายจตุพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ขอความร่วมมือให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมดำเนินการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดใหม่ พร้อมขอให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับค่ามาตรฐานใหม่ และมาตรการแนวทางต่างๆในการแก้ปัญหาที่เป็นหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ส่วนราชการและประชาชนเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันและร่วมกันแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ
เปิดดัชนีคำเตือนฝุ่นจิ๋วใหม่ 75.1 เข้าข่ายสีแดง
ด้านนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า นอกจากนี้การบังคับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ใหม่ จะมีผลต่อการปรับค่าสีในการแจ้งเตือนให้เข้ากับตัวเลขเกณฑ์ค่าฝุ่นใหม่ ซึ่งตัวค่าแจ้งเตือนของแต่ละสี ในการกำหนดโดยใช้มาตรฐาน WHO Guidline เป็นช่วงเวลาแบ่งระดับการแจ้งเตือน
โดยสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพมาก) จะเริ่มจาก 75.1 มคก.ต่อ ลบม.ขึ้นไป ซึ่งจะล้อไปกับกับค่าดัชนีคุณภาพอากาศ(AQI) ที่กำหนดไว้ ดังนี้
- 0-25 สีฟ้า ปรับใหม่ ฝุ่น 0-15 มคก.ต่อลบ.ม. จากเดิม 0-25 มคก.ต่อลบม.
- 26-50 สีเขียว ฝุ่น 15-125 มคก.ต่อลบ.ม. จากเดิม 25-37 มคก.ต่อลบม.
- 51-100 สีเหลือง ฝุ่น 25.1-37.5 มคก.ต่อลบ.ม. จากเดิม 38-50 มคก.ต่อลบม.
- 101-200 สีส้ม ฝุ่น 37.6-75 มคก.ต่อลบ.ม. จากเดิม 51-90 มคก.ต่อลบม.
- 201 ขึ้นไป สีแดง ฝุ่น 75.1มคก.ต่อลบ.ม.ขึ้นไป จากเดิม 91 มคก.ต่อลบม.ขึ้นไป
เล็งรื้อแผนฝุ่นปี 67 หลังปีนี้รุนแรง
นายปิ่นสักก์ กล่าวอีกว่า สำหรับปีนี้ฤดูฝุ่นถือว่าคลี่คลายแล้ว ยอมรับว่าสถานการณ์ปีนี้ค่อนข้างรุนแรงมาก จากปัจจัยเรื่อวสภาพอากาศ และการเผาพื้นที่การเกษตรทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยคพ.จะมีการสรุปสถานการณ์ในเชิงพื้นที่หลังจากมีการทำโฟกัสกรุ๊ปของแต่ละภาค
ปีนี้จะปรับการสรุป และทำโฟกัสกุ๊ปรายพื้นที่ เพราะปัญหาไม่เหมือนกัน เพื่อนำมาปรับแผนเฉพาะกิจ และแผนวาระฝุ่นของปี 2567-70 เพราะปีนี้มันรุนแรงขึ้น แปลว่าแผนเดิม จะต้องเพิ่มศักยภาพคุมให้เข้มข้นขึ้นอีกคาดว่าจะสรุปภายในสิ้นพ.ค.นี้
สำหรับค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) แบ่งเป็น 5 ระดับตามสีดังนี้
- 0-25 (สีฟ้า) คุณภาพอากาศดีมาก คุณภาพอากาศดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว
- 26 – 50 (สีเขียว) คุณภาพอากาศดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ
- 51 –100 (สีเหลือง) คุณภาพอากาศปานกลาง ประชาชนทั่วไป : สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ : หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- 101–200 (สีส้ม) เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไป : ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์
- 201 ขึ้นไป (สีแดง) มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์
จุดความร้อนไทย 623 จุด
ขณะที่ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ไทยพบจุดความร้อนทั้งสิ้น 623 จุด ในขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่ายังครองอันดับหนึ่ง มีจำนวน 1,386 จุด กัมพูชา 123 จุด ลาว 120 จุดเวียดนาม 85 จุด และมาเลเชีย 23 จุด
จุดความร้อนในประเทศไทยวานนี้พบมากสุดในพื้นที่เกษตร 285 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 158 จุด พื้นที่เขต สปก. 73 จุด, ชุมชนและอื่นๆ 59 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 37 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 11 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ ลำปาง 75 จุด