ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมสุขภาพจิตห่วง ปชช.เสพข่าวความรุนแรง ทำระแวงสังคม

สังคม
2 พ.ค. 66
08:19
489
Logo Thai PBS
กรมสุขภาพจิตห่วง ปชช.เสพข่าวความรุนแรง ทำระแวงสังคม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมสุขภาพจิตห่วงประชาชนรับข่าวความรุนแรงต่อเนื่องจนระแวงสังคม แนะรับข้อมูลอย่างเหมาะสม พร้อมเเนะสื่อมวลชนไม่ควรเสนอข่าวตอกย้ำรายละเอียดพฤติกรรมการก่อเหตุจนเกินไป

เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2566 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงข่าวผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมหลายศพ ซึ่งทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่าผู้ต้องหาเป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่นั้น

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การวินิจฉัยทางการแพทย์ต้องผ่านกระบวนการ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจสภาพจิต โดยจิตแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่สามารถอาศัยเพียงข้อมูลหรือพฤติกรรมที่ปรากฏในสื่อมาใช้ในการวินิจฉัย นอกจากนี้ข้อเท็จจริงของอาการเจ็บป่วย เป็นความลับผู้ป่วยที่ไม่สามารถนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะได้

ทั้งนี้ การเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลจิตเวช ไม่ได้หมายถึงการมีโรคทางจิตเวชรุนแรงเท่านั้น เพราะประชาชนทั่วไปก็สามารถมารับการรักษาได้ โดยมีทั้งปัญหาสุขภาพจิตเล็กน้อยบางประเภท ตั้งแต่อาการนอนไม่หลับ เครียด จนถึงปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง ซึ่งการที่บุคคลใดอ้างถึงประวัติการรักษาด้านจิตเวช เมื่อมีการกระทำผิดกฎหมาย จึงต้องนำข้อมูลความเจ็บป่วยมาวิเคราะห์ประกอบอย่างระมัดระวัง

พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นห่วงในระยะนี้ คือเนื้อหาข่าวที่รุนแรงมักดึงดูดให้ประชาชนรับข่าวสารมากเกินไป การเสพข่าวที่ขาดวิจารณญาณและสติ จนเหมือนความรุนแรงโหดร้ายอยู่ใกล้ตัวมากๆ สามารถนำไปสู่ความหวาดระแวงคนใกล้ชิดและคนรอบข้าง กลัวเหตุการณ์จะเกิดขึ้นกับตนเอง กลายเป็นความตระหนกและส่งผลต่อสัมพันธภาพของบุคคล

สิ่งสำคัญที่ต้องระวังอีกเรื่อง คือการรับข้อมูลซ้ำๆ อาจทำให้เกิดการชาชินต่อสถานการณ์ เกิดจินตนาการพฤติกรรมความรุนแรง หรือเกิดการเลียนแบบได้ โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวที่กล่าวถึงชื่อ ให้รายละเอียดวิธีการก่อเหตุอย่างมาก ใช้เวลาบรรยายนานและมีสีสันคล้ายละคร อาจทำให้บุคคลที่มีความอ่อนไหว เปราะบางหรือผู้ที่กำลังประสบปัญหากดดันที่เก็บสะสมอารมณ์ด้านลบ หรือมีพื้นฐานเกลียดชังสังคมอยู่ก่อน กลับมองเห็นการก่อเหตุเป็นทางเลือกแก้ปัญหาชีวิต

นอกจากนี้ ผลกระทบของการนำเสนอข่าวที่พึงระวัง คือการสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้ก่อเหตุหรือเหยื่อ หรือการขุดคุ้ยปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร้ขอบเขต จะสร้างรอยแผลทางใจต่อคนรอบตัวของผู้ก่อเหตุ ขณะที่บางข่าวมีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลสู่สาธารณะ อาจส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ส่วนตัว ความเกี่ยวข้องระหว่างบุคคล รวมถึงการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิตได้เฝ้าระวังดูแลบุคคลใกล้ชิดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ พร้อมแนะนำประชาชนรับข้อมูลสื่อสารที่ก้าวร้าวรุนแรงในระดับที่เหมาะสม ไม่ใช้เวลาอยู่หน้าจอทีวีหรือสื่อออน์ไลน์นานหลายชั่วโมงติดต่อกัน จนเกิดความรู้สึกหม่นหมอง หากกังวลมากสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวอื่นๆ

วัยทำงาน 42% "เครียด-อ้วนลงพุง" ขยับร่างกายน้อย-กินด่วน

"กีรติ"พิธีกรดัง เล่าประสบการณ์เฉียดตาย หัวใจหยุดเต้น 19 นาที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง