ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,300 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-24 เม.ย.2566
พบว่า แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 77.2 มีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย มีภาระหนี้สิน และร้อยละ 73.5 ไม่มีเงินออม เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพสูงขึ้น มีการกู้เงินเพิ่มมาใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ใช้หนี้เดิมและใช้จ่ายเพื่อที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดหนี้สะสมและชำระเพียงขั้นต่ำ
ส่วนภาระหนี้ครัวเรือนของแรงงานในภาพรวมไทยปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 25.05 คิดเป็นมูลค่าหนี้กว่า 270,000 บาทต่อครัวเรือน การผ่อนชำระต่อเดือนไม่ถึง 9,000 บาท
ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนหนึ่ง เปิดเผยว่า ทำรักษาความปลอดภัยมา 10 ปี ได้รับค่าจ้างรายวัน วันละ 529 บาท รวมโอที แต่ละวันต้องทำงาน 12 ชั่วโมงและไม่ได้ทำทุกวัน ซึ่งเขาบอกว่ารายได้ที่ได้รับขณะนี้แทบไม่พอค่าใช้จ่าย ทั้งค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าเดินทางที่แพงขึ้น อีกทั้งต้องส่งเสียลูก
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า สิ่งที่แรงงานต้องการให้รัฐบาลดูแล คือการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำ ดูแลค่าครองชีพ แก้ปัญหาหนี้และแก้ปัญหาการว่างงาน นอกจากนี้ยังต้องการให้สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม เพิ่มสวัสดิการที่ดี เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพให้สอดคล้องกับรายได้
อ่านข่าวอื่นๆ
Soft Power ขุมทรัพย์ต่อยอดท่องเที่ยวไทย