พรรคการเมืองจึงหวังจะเอาชนะใจคนกรุงเทพฯ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลายพรรคการเมือง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แม้จะได้รับความนิยมจากคนต่างจังหวัด แต่กลับไม่เคยมี ส.ส.กรุงเทพฯ เลย อย่างพรรคภูมิใจไทย คือตัวอย่างขณะนี้ แม้จะแจ้งเกิด ส.ส.ได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้
จึงได้เห็นการดึงตัว นายพุทธพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ อดีตแกนนำ กปปส. มาเป็นแม่ทัพใหญ่สู้ศึกกรุงเทพฯ ทั้งยังได้อดีต ส.ส.ทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย มาเป็นส่วนหนึ่งของผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ
ไม่ต่างจากพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่ครั้งที่แล้วครองแชมป์ ส.ส.กรุงเทพฯ ถึง 12 คน จากกระแสเลือกความสงบ จบลงที่ “ลุงตู่” แต่เลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มี ส.ส.เก่าชุดปี 2562 เหลืออยู่กับพรรคเลย ต้องปั้นผู้สมัครหน้าใหม่มาแทนที่ และต้องไปดึงนายสกลธี ภัททิยะกุล อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส.อีกคน มาช่วยเป็นทัพหน้าให้
ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ชู “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจุดขาย นอกจากเป็นภารกิจใหญ่ของนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส.อีกหนึ่งคนแล้ว
ยังมีนายเอกนัฎ พร้อมพันธ์ อดีตหนึ่งในแกนนำ กปปส. และเป็น “ลูกเลี้ยง” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นอีกหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรง โดยมี ส.ส.ชุดที่แล้วจากพลังประชารัฐ เป็นส่วนหนึ่งของผู้สมัครเช่นกัน
อีกหนึ่งพรรคที่ประกาศความพร้อมขอชิงเก้าอี้ ส.ส.คืน คือพรรคประชาธิปัตย์ อดีตแชมป์ยาวนานของคนกรุงเทพฯ เจอผู้ท้าชิงหน้าใหม่เป็นระยะ ๆ ทั้งพรรคประชากรไทย พลังธรรม และไทยรักไทย แต่สุดท้ายก็ยังยืนพื้น
เลือกตั้งหลังสุดปี 2562 กลับสูญพันธุ์ ส.ส.เมืองหลวงทั้งหมด ชนิดคาดคิดไม่ถึง หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคขณะนั้น ประกาศเป็นทางเลือกที่ 3 ไม่หนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ต่อ
ครั้งนี้ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ดึง "มาดามเดียร์" วทันยู บุนนาค จากพรรคพลังประชารัฐ มาเป็นตัวช่วยในการหาเสียง ร่วมกับ นายสุชชัชวีร์ สุวรรณสุวัสดิ์ อดีตอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ส่วน 2 ใน 3 พรรคที่ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.ปี 2562 พรรคละ 9 คน ครั้งนี้หมายมั่นปั้นมือจะเพิ่มจำนวน ส.ส. ทั้งพรรคเพื่อไทย ที่เคยเป็นคู่แข่งประชาธิปัตย์ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทย ปี 2544
ครั้งนี้แม้จะไม่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตเจ้าแม่ กทม.นำทัพ แต่ก็ได้นางพวงเพชร ชุนละเอียด ที่หวังจะได้เป็นเจ้าแม่เมืองหลวงคนใหม่ มาแทนที่ โดยมีทั้งอดีต ส.ส.และคนหน้าใหม่ ให้คนกรุงเทพฯ ได้เลือก
ขณะที่พรรคก้าวไกล ที่เป็นขวัญคนรุ่นใหม่และกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ผ่านมา ครั้งนี้ นอกจากประกาศไม่ร่วมรัฐบาลบกับพรรคทหารจำแลง คือรวมไทยสร้างชาติกับพลังประชารัฐแล้ว ยังชูนโยบายปฏิรูปการเมืองและกองทัพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร จัดสรรคนรุ่นใหม่ ผสมกับอดีต ส.ส.ชุดที่แล้วบางส่วน ลงเป็นผู้สมัคร
ส่วนพรรคอื่นที่อยู่ในข่ายอาจสอดแทรกได้ในบางเขต คือพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงหน่อย โดยเฉพาะในเขต 11 เขตสายไหมที่เป็นฐานเสียงที่แน่นหนาไม่เคยตก ดูได้จากเลือกตั้ง ส.ก.หรือสมาชิกสภากรุงเทพฯที่ผ่านมา และในเขตที่อดีต ส.ส.ตัวเก๋าพรรคเพื่อไทยที่ย้ายตามมา อาทิ การุณ โหสกุล และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
กรุงเทพฯ มีไม่ต่ำกว่า 15 เขตเลือกตั้ง ที่ต้องห้ำหั่นกันดุเดือด ติดตามได้ในตอนต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้ง2566 : 15 เขตเลือกตั้งหิน กทม. : สนามเมืองหลวงยากคาดเดา (2)
เลือกตั้ง2566 : "ภูมิใจไทย" มั่นใจตอกเสาเข็ม ปั้นภูเก็ตเมืองสุขภาพระดับโลก
เลือกตั้ง2566 : "จุรินทร์" หาเสียงอยุธยา ซื้อปลาไหลปล่อยบอกทำบุญให้ทุกคน
เลือกตั้ง2566: ยื่น "กกต." สอบบัตรเลือกตั้งกรุงลอนดอน ติดรูปผู้สมัครสลับกัน