ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมวิทย์ฯ ชี้โควิด XBB.1.16 ไม่แรงเท่าเดลตา-ไทยพบแล้ว 27 คน

สังคม
18 เม.ย. 66
12:50
6,607
Logo Thai PBS
กรมวิทย์ฯ ชี้โควิด XBB.1.16 ไม่แรงเท่าเดลตา-ไทยพบแล้ว 27 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยไทยพบคนติดโควิดสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 แล้ว 27 คน ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ส่งผลต่อความรุนแรงของโรค แต่ยืนยันไม่รุนแรงเท่าเดลตา

วันนี้ (18 เม.ย.2566) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ว่า การระบาดของโควิดขณะนี้ยังคงเป็นสายพันธุ์ "โอมิครอน" ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้เฝ้าระวัง 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BQ.1, BA.2.75, CH.1.1, XBB, XBB.1.16, XBB1.19.1 และ XBF

ส่วนสถานการณ์การระบาดทั่วโลกยังเป็นสายพันธุ์ XBB.1.5 มากที่สุด โดยมีรายงานการตรวจพบจาก 95 ประเทศ ปัจจุบันมีสัดส่วนสูงคิดเป็น 47.9% ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16 เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นในหลายพื้นที่

สำหรับสายพันธุ์ XBB.1.16 มีรายงานพบครั้งแรกในอินเดีย จากนั้นพบในสหรัฐอเมริกาและพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้ภาพรวมยังพบเพียง 4% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลทางแล็ปพบว่า XBB.1.16 แพร่ระบาดได้เร็วกว่า XBB.1.5 เล็กน้อย โดยสันนิษฐานจากตำแหน่งการกลายพันธุ์

ทั้งนี้ต้องจับตาการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า หากมีเปอร์เซ็นเพิ่มมากขึ้นก็สันนิษฐานได้ว่า XBB.1.16 อาจแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

ขณะที่ความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกัน สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ดีเมื่อเทียบกับ XBB.1.5 และยังไม่มีหลักฐานแสดงว่าส่งผลต่อความรุนแรงของโรค โดยอาการที่พบเป็นอาการระบบทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อบุตาอักเสบ คันตา ขี้ตาเหนียว ลืมเปลือกตาไม่ขึ้นร่วมด้วย ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้เป็นสายพันธุ์ลูกผสมทั้งคู่

เพราะฉะนั้นที่สรุปว่ามันแรงเท่าเดลตา ตายเยอะ ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

อย่างไรก็ตามมี 2 สายพันธุ์ที่ต้องจับตา คือ XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ขณะที่ BA.2.75 ที่เคยแพร่ระบาดอย่างมากขณะนี้มีสัดส่วนลดลง

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า การตรวจวินิจฉัย XBB.1.16 ด้วยชุดตรวจ ATK หรือ RT-PCR ไม่ได้แตกต่างจากพันธุ์ก่อนหน้านี้ เพราะ ATK เป็นการตรวจโปรตีนของโควิด-19 ไม่ว่าสายพันธุ์ไหนก็ตาม ซึ่งสามารถใช้ตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ลูกผสมได้ แต่ต้องเข้าใจพื้นฐานของ ATK หากตรวจในขณะที่เชื้อยังไม่มากก็จะหาไม่เจอ

ติดเชื้อวันนี้ พรุ่งนี้ตรวจก็เป็น Negative ไม่มีทางเจอ ต้องใช้เวลา 4-5 วัน

ทั้งนี้ สรุปได้ว่าสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้ยังคงเป็น XBB.1.5 มากที่สุด ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยพบสายพันธุ์ลูกผสม XBB รวมถึง XBB.1.5, XBB.1.9.1 และ XBB.1.16 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวโน้มทดแทนสายพันธุ์หลักเดิม BN.1

สำหรับสายพันธุ์ XBB.1.16 พบในไทยแล้ว 27 คน ซึ่งเป็นข้อมูลเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นผู้ติดเชื้อในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.2566 โดยในจำนวน 27 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน เป็นชาวต่างชาติอายุมากกว่า 80 ปีและอาจมีโรคประจำตัวหลายโรคร่วมด้วย พร้อมยืนยันว่าความรุนแรงของสายพันธุ์นี้ไม่เท่าเดลตาอย่างแน่นอน

"จำนวนไม่ค่อยมีความหมาย ตรวจมากก็เจอมาก ตรวจน้อยก็เจอน้อย แต่ควรดูสัดส่วนเปอร์เซ็นและแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งต่อจากนี้จะมีการเปิดตรวจมากขึ้น พร้อมขอให้ประชาชนยังคงสวมหน้ากากอนามัยและฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันและลดการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว

เทียบอาการโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.5 vs XBB.1.16

ข่าวที่เกี่ยวข้อง