องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน Fortify Rights “ฟอร์ตี้ฟายไรต์” ออกแถลงการณ์วานนี้ (14 เม.ย.66) เรียกร้องให้ประเทศไทย สอบสวนเหตุการณ์บังคับส่งกลับชายชาวเมียนมา 3 คน ให้กองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (กะเหรี่ยง BGF) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกองกำลังรัฐบาลเมียนมา ด้วยเหตุผลว่า การส่งกลับมีความเสี่ยงอย่างมาก ที่ผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาทั้ง 3 คน จะตกเป็นเหยื่อการทรมานและประหัตประหาร
ล่าสุด พบภาพถ่ายชายชาวเมียนมาที่ถูกส่งตัวกลับ 2 คน ถูกมัดมือมัดเท้าและปิดตาอยู่ด้านหลังของรถยนต์คันหนึ่ง ตามรายงานระบุว่า เป็นการควบคุมตัวของกะเหรี่ยง BGF ขณะที่ชาวเมียนมาอีก 1 คน ไม่ทราบชะตากรรม
ภาพชายชาวเมียนมา 2 คุมที่ถูกควบคุมตัวโดยกะเหรี่ยง BGF (ภาพจาก Fortify Rights)
“ฟอร์ตี้ฟายไรต์” อ้างถึงเอกสาร ที่เชื่อว่าเป็นข้อมูลที่มาจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ของไทย ระบุว่า บุคคลทั้ง 3 คน ถูกหน่วยงานความมั่นคงไทยควบคุมตัว เมื่อวันที่ 31 มี.ค.66 เวลาประมาณ 14.00 น. ณ จุดตรวจบ้านห้วยหินฝน อ.แม่สอด จ.ตาก ขณะกำลังโดยสารรถประจำทาง จากนั้น ส่งไปยังห้องกัก ตม.จังหวัดตาก ที่ตั้งอยู่ใน อ.แม่สอด ก่อนจะผลักดันทั้ง 3 คน กลับเมียนมาพร้อมกับผู้ต้องกักสัญชาติเมียนมาคนอื่นๆ ในวันที่ 4 เม.ย.66
ภาพสมาชิกกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา 3 คน ถูกจับกุมตัวที่ด่านห้วยหินฝน อ.แม่สอด จ.ตาก (ภาพจาก Fortify Rights)
วันที่ 10 เม.ย.66 สำนักข่าวอิรวดีของเมียนมา รายงานว่า ต้นเดือนเมษายน หน่วยคอมมานโดกองพันสิงโตของกองกำลังกอทูเล (KTLA) เข้าโจมตีกองกำลังรัฐบาลทหารเมียนมาและกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง BGF ในหมู่บ้าน Hteewapalaw และ Hteekawhtaw ในเมืองเมียวดีติดชายแดนไทย ส่งผลให้รัฐบาลทหารเมียนมากกว่า 80 คน เสียชีวิต และทำให้ประชาชนอพยพหนีภัยการสู้รบเข้ามายังประเทศไทยจำนวนหลายพันคน การต่อสู้ปะทุขึ้นหลังจากสมาชิกหน่วยคอมมานโดกองพันสิงโตของ KTLA 3 คน ถูกจับกุมโดย ตม. จ.ตาก ระหว่างเดินทางไปรักษาอาการบาดเจ็บจากการสู้รบในตัวเมืองแม่สอด และถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทางในเช้าวันที่ 4 เม.ย.66
แม้องค์กรเอกชนหลายแห่งพยายามทักท้วงการส่งตัวกลับของ ตม.ไทย เนื่องจากละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 และหลักทางการทูต ‘non-refoulement’ หรือ หลักไม่ส่งกลับไปเผชิญอันตราย
กลุ่ม KTLA ก่อตั้งขึ้นในเดือน ก.ค.65 แยกตัวออกมาจากกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ KNU โดยที่ผ่านมาทาง KTLA ร่วมสู้รบกับกองกำลังต่อต้านรัฐบาลเมียนมากลุ่มอื่นๆ ในรัฐกะเหรี่ยง
นายแพทริก พงศธร ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการรณรงค์ของฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าวว่า มีความเสี่ยงอย่างมากที่ผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารในเมียนมา จะตกเป็นเหยื่อการทรมานและประหัตประหาร
ดังนั้น ไทยจึงควรป้องกันไม่ให้เกิดการส่งตัวผู้ใดกลับไปยังสถานการณ์ที่พวกเขาอาจเผชิญอันตรายถึงชีวิต และการละเมิดอื่นๆ
ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ยังระบุว่า ก่อนการจับตัวชายเมียนมาทั้ง 3 คน เพียง 4 วัน รัฐบาลไทยเพิ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาคัดกรองคนต่างด้าว เพื่อให้สถานะเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีไว้สำหรับชาวต่างด้าวที่ไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหาร
จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน