เมื่อวันที่ 14 เม.ย.2566 GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ไทยพบจุดความร้อน 1,096 จุด ในขณะที่เมียนมาครองแชมป์อยู่ที่ 6,999 จุด, สปป.ลาว 2,618 จุด, เวียดนาม 98 จุด ,กัมพูชา 133 จุด และมาเลเซีย 45 จุด
ข้อมูลจากดาวเทียมระบุอีกว่า จุดความร้อนในประเทศไทย ยังคงพบในพื้นป่าอนุรักษ์มากที่สุด 497 จุด ตามด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 384 จุด, พื้นที่เกษตร 118 จุด, พื้นที่เขต สปก. 56 จุด, พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 38 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 3 จุด
จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ
- เชียงราย 206 จุด
- เชียงใหม่ 205 จุด
- น่าน 95 จุด
ในขณะที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ยังคงเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่กว่า 40 จังหวัด กระจายไปตามภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่งผลต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวประชาชนควรสวมหน้ากากอนามัย และงดกิจกรรมภายนอกอาคารสถานที่เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่จะตามมา ขณะที่กรุงเทพมหานคร คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง แต่เมื่อดูของแต่ละเขตพบว่า บางบอน บางขุนเทียน ภาษีเจริญ บางแค ทุ่งครุ บางกอกใหญ่ มีค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานระดับสีส้ม ที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพเช่นกัน
เฝ้าระวัง PM2.5 พัดจากประเทศเพื่อนบ้าน
สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังมักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ประกอบกับภูมิประเทศทางภาคเหนือของไทยมีลักษณะเป็นหุบเขาแอ่งกระทะ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการพัดและการเคลื่อนตัวของกระแสลมในพื้นที่เป็นสำคัญ
อ่านข่าวเพิ่ม :
กกต.ประกาศตัดสิทธิ 1 แคนดิเดตนายกฯ ชี้ให้ร้องศาลใน 7 วันหากไม่เห็นด้วย