ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พรรคการเมืองเสนอนโยบายหวังดึงคะแนนเสียงกลุ่มผู้สูงอายุ

การเมือง
15 เม.ย. 66
07:55
1,483
Logo Thai PBS
พรรคการเมืองเสนอนโยบายหวังดึงคะแนนเสียงกลุ่มผู้สูงอายุ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การเลือกตั้งครั้งนี้ หลายพรรคการเมืองนำเสนอนโยบาย หวังได้คะแนนจากผู้สูงอายุที่มีกว่า 12 ล้านคน สวนทางกับผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยวางแผนชีวิตล่วงหน้า เพราะไม่อยากเป็นภาระญาติ พี่น้อง และไม่อยากหวังพึ่งสวัสดิการจากรัฐ

วันนี้ (15 เม.ย.2566) ที่บ้านพักคนชรา สวางคนิเวศ สภากาชาดไทย อ.บางปู จ.สมุทรปราการ มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่เคยทำธุรกิจส่วนตัว แต่ไม่อยากให้ตัวเองเป็นภาระของพี่น้องและญาติ จึงวางแผนชีวิตนำเงินที่ทำงานมา เลือกย้ายตัวเองมาพักอาศัยอยู่ที่นี่

จ่ายค่าสิทธิเข้าที่พักราคา 650,000 บาท แลกกับขนาดห้อง 33 ตร.ม. ซื้อความปลอดภัยและมาเจอเพื่อนใหม่ ที่แต่ละคนก็มีเส้นเรื่องที่ต่างกัน

ผู้จัดการสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย บอกว่าผู้สูงอายุที่เข้ามาติดต่อห้องพัก ร้อยละ 70 ครองสถานะโสด ไม่มีลูก ปัจจุบันมีห้องพักทั้งหมด 400 ห้อง มีสิทธิอยู่ได้จนวาระสุดท้ายของชีวิต มีกิจกรรม มีระบบการดูแลสุขภาพโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมเฉพาะทาง และมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลรองรับ

เปิดนโยบายเรียกคะแนนกลุ่มผู้สูงวัย 12 ล้านคน

ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ ปี 2565 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 12,698,362 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.21 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศกว่า 66 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคนในทุกๆ ปี ดังนั้นนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุ จึงเป็นปัจจัยที่จะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้

พรรคพลังประชารัฐ มีนโยบาย 3 ข้อ ได้แก่

  1. ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในบัตรผู้สูงอายุแบบขั้นบันได โดยผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับเบี้ย 3,000 บาท/เดือน
  2. อายุ 70 ปีขึ้นไปจะได้รับ 4,000 บาท/เดือน
  3. อายุ 80 ปีขึ้นไปจะได้รับ 5,000 บาท/เดือน ถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ


พรรคไทยสร้างไทย มีนโยบาย 2 ข้อ ได้แก่

  1. โครงการบำนาญประชาชน จ่ายเงินให้ผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน ทุกช่วงอายุ มีเป้าหมาย 5 ล้านคน ซึ่งในเฟสแรกจะช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพก่อน ควบคู่กับโปรแกรมสุขภาพให้ผู้สูงอายุแข็งแรง
  2. ให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการออม ทั้งภาคสมัครใจ และภาคบังคับ

พรรคก้าวไกล มีนโยบาย 3 ข้อ ได้แก่

  1. เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ภายในปี 2570
  2. เพิ่มสวัสดิการผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยทันที
  3. สมทบเงินจากเงินผู้สูงวัยเข้าสู่กองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ คนพิการที่ติดบ้าน-ติดเตียง ประมาณ 9,000 บาท/คน/เดือน

พรรครวมไทยสร้างชาติ มีนโยบาย 4 ข้อ ได้แก่

  1. ปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทเท่ากันทุกช่วงอายุ
  2. สร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย
  3. สร้างศูนย์สันทนาการผู้สูงอายุในชุมชน
  4. ลดภาษีให้แก่บริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ

พรรคภูมิใจไทย มีนโยบาย 3 ข้อ ได้แก่

  1. ตั้งกองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป โดยผู้สูงอายุจะได้รับสิทธิในกรมธรรม์ประกันชีวิตทันทีโดยอัตโนมัติ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
  2. สิทธิกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพวงเงิน 20,000 บาท
  3. ในวันที่จากไปจะได้รับเงินจากกองทุนฯ รายละ 100,000 บาท เป็นมรดกให้ครอบครัว

พรรคเพื่อไทย ไม่มีการเพิ่มเงิน แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพของ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้ผู้สูงอายุสามารถใช้บริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ไม่ต้องรอพบแพทย์นาน และปรับปรุงการบริการให้ทันสมัย โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว และที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่าย

อ่านข่าวเพิ่ม : 

"ป๋อ ณัฐวุฒิ" ติดโควิด-เตือนสงกรานต์เยี่ยมญาติให้ระวัง

"ซูเปอร์โพล" กางข้อมูลใหม่ แลนด์สไลด์ไม่มีอยู่จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง