วันนี้ (10 เม.ย.2566) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นประธานเปิดงานสัมมนา เสริมสร้างความรู้และความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นายแสวงยอมรับการทำงาน อาจมีความผิดพลาดหรือสับสนอยู่บ้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับสื่อ แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับคนที่ไปออกรายการ จึงขอให้ไปศึกษากฎหมาย เพราะบางคนเป็นคนที่สังคมนับถือ แต่การให้ความเห็นโดยไม่ได้ศึกษากฎหมายจึงอาจทำให้เกิดความสับสน เพราะการเลือกตั้งเป็นการใช้กติกาเกือบ 100 % ถ้าเกิดความสับสนต้องเสียเวลา ชี้แจงในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
ผลเลือกตั้ง 66 ไม่เกิน 4 ทุ่มรู้ผลไม่เป็นทางการ
นายแสวง ระบุถึงการรายงานผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ว่า จะรายงานผลหลังนับคะแนนเสร็จไม่ได้ทำแบบเรียลไทม์ตามที่มีข้อเรียกร้อง โดยหลังปิดหีบ 17.00 น. ไม่น่าจะเกิน 19.00 น. จะเริ่มรายงานได้และไม่เกิน 22.00 น. น่าจะทราบผลเกือบ 100 % ซึ่งที่ กกต. ไม่ใช้วิธีรายงานแบบแอปพลิเคชัน เนื่องจากยังติดปัญหาไม่สามารถแก้ไขจากการกรอกข้อมูลได้ แต่ยืนยันว่า การรายงานผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการถูกต้องจะเร็วขึ้นกว่าเดิม มีความโปร่งใส ตรวจสอบความถูกต้องได้
ระบบลงทะเบียนรองรับผู้ใช้งาน 4,000 คนต่อ 1 วินาที
นายแสวง กล่าวถึงกรณี เกิดปัญหาในระบบการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ที่เกิดปัญหาระบบล่ม โดยขอโทษประชาชนที่อาจเกิดจากปัญหาระบบหน่วงตั้งแต่ 21.00 น เมื่อคืนนี้ (9 เม.ย.) โดยปกติแล้วระบบสามารถรองรับผู้ใช้งานได้ 4,000 คนต่อ 1 วินาที แต่เมื่อคืนอาจจะมากกว่านั้นจึงทำให้เกิดปัญหา ซึ่งสำนักทะเบียนพยายามแก้ไข เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้ดำเนินการประสาน
ทั้งนี้หากมีคนที่ลงทะเบียนแล้วค้างอยู่ในระบบให้แจ้งว่า ได้มีการลงเลือกตั้งพื้นที่ใดเนื่องจากการลงใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้ายังไม่สมบูรณ์จะมีการอำนวยความสะดวกให้ดูแลไม่ให้เสียสิทธิ การเลือกตั้งจนถึงขณะนี้ กกต. ยังขอแก้ไขและยังตอบไม่ได้ว่าจะขยายเวลาลงทะเบียนหรือไม่
ขอเลือกตั้งล่วงหน้า 2.4 ล้านคน ใกล้เคียงปี 62
ส่วนตัวเลขลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตและนอกราชอาณาจักร ขณะนี้ได้รับรายงานว่า มีผู้ลงทะเบียนมาแล้วกว่า 2.4 ล้านคน และตอนนี้ยังกรอกรายละเอียดลงในระบบไม่ครบคาดการณ์ว่าตัวเลขผู้ลงทะเบียนจะใกล้เคียงกับเมื่อการเลือกตั้ง 2562 ครั้งที่ผ่านมา ที่ 2.6 ล้านคน พร้อมคาดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 80
สั่ง "พท." แจงแหล่งเงินนโยบายเติมเงินหมื่น
นายแสวง กล่าวถึงกรณีที่ให้พรรคเพื่อไทยชี้แจงที่มาของเงินที่จะใช้ในนโยบายเติมเงินดิจิทัล คนละ 10,000 บาท ภายใน 7 วัน เพราะยังไม่ได้บอกที่มาของเงิน ซึ่งตามเงื่อนไขจะต้องบอกเพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นนโยบายประชานิยมแบบใด ซึ่งหากไม่มีข้อมูลรายละเอียด อาจเข้าข่ายขัดกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง (5) แต่ขณะนี้ยังไม่ถือว่ามีความผิดเพราะการไม่แจ้งไม่ถือว่าผิด
"ศรีสุวรรณ" ร้อง "กกต." สอบนโยบายเติมเงินหมื่น
ส่วนที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นให้ กกต. ตรวจสอบว่า นโยบายเติมเงินหมื่นบาทเข้าสู่ระบบดิจิลจะเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้และเป็นการหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตามข้อห้ามใน ม.73 (1) และ (5) แห่ง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.2561 หรือไม่นั้น นายแสวง กล่าวว่า เป็นสิทธิที่จะดำเนินการได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"อลงกรณ์" บลัฟนโยบายธนาคารหมู่บ้านฯ ยั่งยืนกว่าเงินดิจิทัล 1 หมื่น