ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตา "โรคไอกรน-คอตีบ" คัมแบ็กเสี่ยงระบาดระลอกใหม่

สังคม
4 เม.ย. 66
10:49
1,267
Logo Thai PBS
จับตา "โรคไอกรน-คอตีบ" คัมแบ็กเสี่ยงระบาดระลอกใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรค เตือนพบโรคไอกรน-คอตีบ กลับมาระบาดในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-4 ปี และกลุ่มผู้ใหญ่ โดยช่วงปี 2566 พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์รายงานสงสัยโรคคอตีบ 10 เหตุการณ์ สาเหตุการได้รับวัคซีนลดลงในช่วงการระบาดโควิด

วันนี้ (4 เม.ย.2566) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า จากการเผ้าระวังของกรมควบคุมโรคประจำสัปดาห์ที่ 13 (วันที่ 2–8 เม.ย.นี้) พบว่า สถานการณ์โรคไอกรน ในปี 2565 ที่ผ่านมามีผู้ป่วย 19 คน กลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ 0-4 ปี รองลงมาคือ 45-54 ปี และ 25-34 ปี

ส่วนในช่วงต้นปี 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 4 คน กลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ 0-4 ปี รองลงมาคือ 7-9 ปี และมากกว่า 65 ปี ซึ่งสถานการณ์โรคคอตีบในช่วงปี 2564–2566 แม้จะยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันตามระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 

จากการตรวจสอบข่าวการเฝ้าระวังเหตุการณ์ในช่วงต้นปี 2566  พบผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์รายงานสงสัยโรคคอตีบแล้ว 10 เหตุการณ์ 

ทั้งนี้กรมควบคุมโรค คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนลดลง จากสถาน การณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ในบางพื้นที่เด็กอาจยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์

รู้จักโรคคอตีบ-ไอกรน

โรคคอตีบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (C. diphtheria) ติดต่อกันได้โดยง่ายผ่านทางการไอ จาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย นับเป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและร้ายแรง อาการของโรคจะแสดงหลังจากการติดเชื้อประมาณ 2-5 วัน

ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น มีน้ำมูก เจ็บคอ คออักเสบ กลืนอาหารลำบาก รู้สึกเจ็บเวลากลืน คอบุ๋ม หอบ หายใจลำบาก หากอาการรุนแรงมากอาจทำให้หายใจไม่ออก จนเป็นอันตรายถึงชีวิต หากตรวจคออาจพบแผ่นฝ้าสีขาวปนเทาขึ้นบริเวณลำคอ ต่อมทอนซิล หรือลิ้นไก่ อาจพบภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเส้นประสาทอักเสบ

โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (B. pertussis) ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม สัมผัสกับสารคัดหลั่งและเครื่องใช้ของผู้ป่วย

ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อในเด็ก ซึ่งอาการของโรคไอกรนในเด็กอาจรุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิตได้

อาการของโรคจะแสดงหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 6-20 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก และไอ โดยอาจเป็นต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการสำคัญของโรคคือ ไอซ้อนๆ ถี่ๆ ติดกัน 5-10 ครั้งหรือมากกว่านั้น จนทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และพยายามหายใจเข้าลึกๆ และมีเสียง ดังวู๊ป สลับกับการไอเป็นชุด ทั้งนี้อาการที่กล่าวมาอาจเป็นเรื้อรังติดต่อกันนานถึง 2-3 เดือน

วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก นับเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนจำเป็นต้องได้รับ เนื่องจากโรคเหล่านี้เป็นโรคร้ายแรง โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ในประเทศไทยได้กำหนดให้เด็กทุกคนฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ซึ่งช่วยลดจำนวนผู้ป่วยลงได้มาก กรมควบคุมโรคจึงขอแนะนำให้ประชาชนนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามช่วงเวลาที่กำหนด ตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป ควรสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง