กว่า 1 สัปดาห์ที่วัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี มีการเพิ่มเงินรางวัลสำหรับผู้พบเบาะแสถึง 100,000 บาท ล่าสุด มีรายงานการพบที่โรงหลอมเหล็ก ที่อยู่ใน อ.กบินทร์บุรี
ทันทีที่พบก็มีความกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัย โดยมีคำสั่งปิดโรงงานเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียด แต่ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าเส้นทางของวัตถุที่บรรจุสารซีเซียมอยู่ด้านใน หายไปไปปรากฎอยู่ที่โรงหลอมเหล็กที่อยู่ห่างออกไปคนละอำเภอได้อย่างไร
เช้าวันนี้ (20 มี.ค.2566) วิศวกรนิวเคลียร์ ชำนาญการพิเศษ ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.ศรีมหาโพธิ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับ บริษัท เนชั่นแนล พาวเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด พร้อมพวก ในความผิดฐานกรณีที่เกิดอันตราย หรือ เสียหายอันเกิดจากการประกอบกิจการตามใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาต มีหน้าที่ระงับเหตุในเบื้องตัน ตามแผนป้องกันอันตรายจากรังสี และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที
รวมทั้งต้องให้ข้อมูลและให้ความร่วมมือแก่พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ไข บรรเทา หรือระงับซึ่งอันตรายหรือความเสียหายนั้น ซึ่งในรายงาน ระบุว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 7 มี.ค.2566 เวลาประมาณ 18.00 น.
ย้อนไทม์ไลน์ แจ้ง-ค้นหา ซีเซียม-137
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ซึ่งปรากฎข่าวการหายไปเป็นครั้งแรก จากโรงไฟฟ้าเอกชนแห่งนี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เริ่มค้นหา ตั้งแต่ได้รับแจ้งว่าซีเซียมหายไป เมื่อ 10 มี.ค.2566 นำเครื่องตรวจจับออกค้นหาในทุกมิติ
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ อธิบายว่า ซีเซียมที่คาดว่ามีอยู่ราว ๆ ครึ่งช้อนชา ถูกบรรจุในแคปซูลที่ห่อหุ้มด้วยท่อตะกั่วกลมน้ำหนักราว ๆ 25-50 กิโลกรัม ถูกติดตั้งอยู่บนสถานที่ที่มีความสูงราว ๆ ตึก 5 ชั้น เพิ่งจะตรวจสอบตามวงรอบเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา หลังขออนุญาตมีไว้เพื่อใช้งานเมื่อปี 2538
ลักษณะการบรรจุที่เป็นภาชนะโลหะทำให้ความกังวลว่า จะถูกนำไปแปรสภาพ ซึ่งหากแท่งซีเซียมถูกผ่าออกจนถึงข้างในจนแคปซูลเสียหายจะทำให้ผู้สัมผัสเสี่ยงอันตราย มีโอกาสเป็นมะเร็ง แต่ในทางเทคนิคหากไม่ได้เปิดแคปซูลด้านในออก ก็จะไม่เกิดปัญหา
แต่การค้นหาในพื้นที่โรงงานที่กว้างนับพันไร่ ซึ่งมีมาตรการรักษาความปลอดภัยหลายชั้นกลับไม่พบซีเซียม ทำให้มีข้อสังเกตว่า พื้นที่โรงงานมีการรักษาความปลอดภัยสูงทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้
จากนั้นขยายวงออกค้นหาพื้นที่นอกโรงงาน คือ ร้านรับซื้อของเก่าก็ไม่พบจนกระทั่งขยายพื้นที่เป้าหมายไปที่โรงหลอมเหล็ก
ที่มา พบซีเซียมเกินมาตรฐานที่โรงงานแห่งหนึ่ง
หลักการ คือ การตรวจจับปริมาณรังสีที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรวจเจอซีเซียมในโรงหลอมเหล็กแห่งนี้ สูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 3 เท่า แต่ในทางเทคนิค นี่อาจจะเร็วเกินไป ที่จะนับว่า เป็นฝุ่นแดง ที่หมายถึง ฝุ่นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสี ตามคำนิยามของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เนื่องจากในทางเทคนิค การพบซีเซียมในฝุ่น อาจต้องตรวจสอบเพิ่มเติมว่า มาจากวัตถุที่ใช้ในกระบวนการหลอมเหล็กตามปกติหรือไม่
กรีนพีซตั้งคำถาม การกำกับดูแล"ซีเซียม"
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย กล่าวว่า ซีเซียมเป็นกัมมันตรังสีที่ถูกใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในประเทศไทย
ไทยมีพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ฉบับล่าสุดแก้ไขในปี 2562 กำหนดให้ผู้ที่จะใช้งานต้องมีใบอนุญาต แต่เมื่อมีใช้งานแล้ว กลับไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้ตรวจสอบกลไกการกำกับดูแล
อย่างที่ตั้งข้อสังเกตว่า โรงงานแห่งนี้ เป็นบริษัทจดทะเบียน ทุนสูงกว่า 6,000 ล้านบาท มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่น่าจะรัดกุม แต่ทำไมซีเซียมขนาดใหญ่จึงหายไปได้