น้ำมันทดแทนจากข้าวโพดเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงทดแทนที่มักถูกนำไปผสมกับน้ำมันรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะมีการขนส่งไปยังปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดจากพืช สนับสนุนเกษตรกร และลดต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (U.S. Department of Agriculture) อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2005
แต่ทว่าผลงานวิจัยใหม่ล่าสุดที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหพันธ์สัตว์ป่าแห่งชาติ (National Wildlife Federation) และกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (U.S. Department of Energy) ได้เปิดเผยว่า น้ำมันทดแทนจากข้าวโพดและพืชชนิดอื่น ๆ นั้น ก่อให้เกิดแก๊สเรือนกระจกมากกว่าน้ำมันปกติเสียอีก โดยคิดเป็นปริมาณที่สูงกว่าถึง 24% ในสหรัฐอเมริกา
เนื่องจากนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากพืชนั้นได้ส่งผลให้เกษตรกรกว้านซื้อพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกข้าวโพดราว 28,000 ตารางกิโลเมตร ระหว่างปี ค.ศ. 2008-2016 แทนที่พื้นที่เหล่านี้จะตกอยู่ภายใต้โครงการอนุรักษ์พื้นที่ป่า
นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจน การเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยเครื่องจักร และกระบวนการแปรรูปข้าวโพดไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเพิ่มเติมอีกด้วย
ในขณะที่ผลงานวิจัยจากทางฝั่งกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เมื่อหลายปีก่อนกลับชี้ให้เห็นว่าน้ำมันทดแทนจากพืช เป็นพลังงานสะอาดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งได้นำไปสู่การส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากพืช ในแผนนโยบายลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของสหรัฐฯ ภายในปี 2050
Geoff Cooper ประธานและผู้บริหารของสมาคมเชื้อเพลิงทดแทน (Renewable Fuels Association) ยังได้โต้แย้งงานวิจัยชิ้นใหม่ที่เป็นปรปักษ์กับน้ำมันทดแทนจากพืชว่า "ไม่มีมูลความจริง" เป็นการใช้ข้อมูลที่ผิดพลาด อีกทั้งยังมีการตั้งสมมติฐานด้วยกรณีที่เลวร้ายที่สุด และ คัดเลือกข้อมูลที่ตนต้องการแต่เพียงอย่างเดียว
ไม่ว่างานวิจัยฝ่ายไหนจะผิดพลาดหรือถูกต้องก็ตาม สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (The U.S. Environmental Protection Agency) ก็กำลังพิจารณาถอดถอนน้ำมันทดแทนจากพืชออกจากแผนส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมภายในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2023 ที่กำลังจะถึงนี้
ที่มาข้อมูล: Reuters , U.S. Department of Energy
ที่มาภาพ: Reuters
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech