แนวโน้มพบช้างป่าออกนอกพื้นที่ จนเกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า โดยเฉพาะในกลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าตะวันตก และกลุ่มป่าภูหลวง แม้ว่าหลายแห่งจะมีการจัดชุดเฝ้าระวังช้างในพื้นที่ แต่ยังไม่เพียงพอ
วันนี้ (13 มี.ค.2566) นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานฯ พยายามจัดสรรงบประมาณให้มีชุดอุปกรณ์ช่วยเฝ้าระวัง และผลักดันช้างป่ามาตั้งแต่ปี 2562 จนมีชุดปฏิบัติการและเครื่องมือพร้อมรวม 74 ชุด
แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนและชุดพิทักษ์ป่าร่วมปฏิบัติการอาจเป็นการเพิ่มภาระงานจากการทำ 2 หน้าที่ จึงจำเป็นต้องเปิดรับสมัครชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าโดยเฉพาะขึ้นมา 15 ชุด
กำลังเปิดรับสมัครชุดเฝ้าระวังช้างและผลักดันช้างชุดละ 5 คน รวม 75 คน ตั้งแต่เดือนมี.ค.นี้ และจะเสริมประสบการณ์เพิ่มทักษะการผลักดันช้างให้มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับช้างป่า คาดปลายเดือนนี้จะเริ่มปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ
เนื่องจากช้างป่าออกมานอกแนวเขตป่าเข้าหากินในเขตชุมชนรอบแนวเขตป่ามากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ 7 จังหวัดกลุ่มป่าภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี ครอบคลุม อ.กบินทร์บุรี-ศรีมหาโพธิ และ จ.สระแก้ว เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่แนวเขตป่าที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า สัตว์ป่าออกมารวบกวน เกิดความเสียหายในชีวิตทรัพย์สิน
ส่วนกลุ่มป่าอื่นๆ อยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณจากงบกลางมาสนับสนุน การจัดชุดชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าโดยเฉพาะขึ้นมา เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่และความต้องการ เบื้องต้นได้เสนองบประมาณไปแล้วในปี 2567 คาดว่า จะขอจัดสรรอุปกรณ์เฝ้าระวังช้างป่าได้ครบ 100 ชุด
ส่วนในระยะยาว เชื่อว่าจะได้รับการจัดสรรงบเพิ่มเติมจากงบ ปกติประจำปีได้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า
อ่านข่าวเพิ่ม ป่าตะวันออกช้างเพิ่ม 8% เตรียมพึ่งยาคุมฮอร์โมน
เหตุผลของบเพิ่มชุดเฝ้าระวังช้าง
นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ในอดีตใช้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจอื่น ทั้งการลาดตระเวน ป้อง กันและรักษาป่า รวมทั้งป้องกันการล่าสัตว์ในพื้นที่อนุรักษ์ทุกแห่ง และมาช่วยงานติดตามและผลักดันช้างป่า ซึ่งเป็นงานที่หนักและต้องทำอย่างต่อเนื่อง จึงพยายามในการของบจัดจ้างเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำงานเฉพาะ
เพราะถ้าติดตามช้างป่าเป็นประจำ ทำให้รู้นิสัยและพฤติกรรมของช้างแต่ละตัว หรือแต่ละโขลง ส่งผลให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงไม่กระทบภารกิจหลักของพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ
ภารกิจเฝ้าระวังผลักดันช้าง เป็นภารกิจที่หนักมาก ต้องใช้คนที่มีทักษะและควรต้องทำงานต่อเนื่อง เพราะจะทำให้รู้จักนิสัย พฤติกรรมของช้างป่าแต่ละตัว แต่ละโขลง
นายเผด็จ กล่าวอีกว่า บางหน่วยกลางวันต้องทำภารกิจหลัก ส่วนกลางคืนเวลาช้างออกก็ต้องมาติดตามผลักดันช้างป่า ทำให้การปฏิบัติงานไม่ได้ผูกติดกับภารกิจหลักโดยเฉพาะพื้นที่ป่าตะวันออกได้รับผลกระทบภัยจากช้างป่าสูงสุด
คนที่ใจไม่รัก ทำงานยาก คิดจะเดินตามช้างก็ไม่อยากเดินแล้ว คนกลัวทุกคน ทักษะที่เกิดขึ้นต้องสะสมประสบการณ์ มีใจรัก มีสิ่งที่ผูกพันและอยากจะทำ บางคนเดินวันละ 20-30 กม.มากกว่าการลาดตระเวน เพราะช้างเดินไปไหน เขาต้องเดินตาม กดดันให้ช้างเข้าพื้นที่อนุรักษ์
นายเผด็จ มองว่า หากเดินหน้าจัดจ้างเจ้าหน้าที่ติดตามผลักดันช้างสำเร็จ จะปฏิบัติภารกิจหลักเกาะติดกับตัวช้างป่า เรียกได้ว่าเมื่อช้างนอน เจ้าหน้าที่ก็ได้นอน เมื่อช้างเดิน เจ้าหน้าที่ก็ผลักดัน กดดัน ที่สำคัญจะทำงานร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า โดยกรมฯ สนับสนุนเงินเครือข่ายละ 50,000 บาทต่อปี
ในพื้นที่ป่าตะวันออกสนับสนุน 92 เครือข่าย ซึ่ง 15 ชุดปฏิบัติการเจ้าหน้าที่จะออกไปทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งหมด ต่อไปช้างออกจุดไหน จะมีชุดที่รับผิดชอบหน้างานทันที
กางแผนชุดเฝ้าระวังช้างป่ามีอะไรบ้าง
ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ ระบุว่า การจัดจ้างเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานจ้างเฝ้าระวังช้าง เงินเดือน 9,000 บาท ส่วนงบฯ ขึ้นอยู่กับจำนวนชุดเจ้าหน้าที่ที่ขอรับการสนับสนุนได้ โดยหนึ่งชุดจะมี 5 คน เบื้องต้นขอใช้งบรายได้กรมอุทยานฯมาจ้างงานในระยะเวลา 7 เดือน (ตั้งแต่มี.ค.-ก.ย.นี้)
ชุดครุภัณฑ์ และผลักดันช้างป่าไว้เบื้องต้น 100 ชุด ขณะนี้ได้รับแล้ว 74 ชุด โดยในปี 2567 ได้ขอเต็มจำนวนครุภัณฑ์ คือ 100 ชุด เช่น ไฟฉายคาดหัว รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก กล้องถ่ายภาพนิ่งระบบดิจิทัล เครื่องรับส่งวิทยุ ระบบ VHF/FM ชนิดมือถือ
นอกจากนี้ต้อวควรต้องมีเทคโนโลยีเข้าไปอำนวยความสะดวกในการทำงาน โดยเฉพาะโดรนจับความร้อนในเวลากลางคืน เพราะสามารถจับความร้อนได้ จะเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ชุดนี้ที่ต้องทำงานช่วงกลางคืน บางครั้งเดินตามแล้วร่องรอยช้างหายไป เป็นสัญญาณที่ไม่ดี เจ้าหน้าที่ต้องถอยมาตั้งหลัก หลายครั้งที่ตกอยู่ในวงล้อมของช้าง
หากกรณีที่โดรนจับความร้อนเวลากลางคืน เมื่อขึ้นบินจะทราบพิกัดของช้างป่า สามารถวางแผนบล็อกเส้นทางช้างได้
โดยขอรับการสนับสนุนงบกลาง ผ่านไปทางคณะกรรมการอนุรักษ์และผลักดันช้าง ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติที่จะประชุมวันที่ 5 เม.ย.นี้ โดยเบื้องต้นจะมีการทดลองต้นแบบที่เขาอ่างฤาไนวันพรุุ่งนี้ (14 มี.ค.)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไฟแช็คคามือ! ชาวบ้านเผาพท.เกษตรจนไฟลามป่าเขื่อนศรีนครินทร์