ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตประชากร อัตราการเกิดต่ำสุดในรอบ 40 ปี

ต่างประเทศ
2 มี.ค. 66
15:03
4,285
Logo Thai PBS
ญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตประชากร อัตราการเกิดต่ำสุดในรอบ 40 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จำนวนทารกแรกเกิดในญี่ปุ่นลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ซึ่งเป็นสถิติที่น่ากังวลในรอบหลายทศวรรษ ส่งผลต่อภาคแรงงานและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่ทางการญี่ปุ่นยังไม่สามารถแก้ไขได้ แม้จะมีความพยายามอย่างมากก็ตาม

เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2566 สำนักข่าว CNN รายงานว่า ในปี 2565 ประเทศญี่ปุ่นมีทารกแรกเกิดและได้รับการลงทะเบียนจำนวน 799,728 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และยังนับเป็นครั้งแรกที่จำนวนทารกเกิดใหม่มีจำนวนลดลงต่ำกว่า 800,000 คน อ้างอิงสถิติจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นเมื่อวันอังคารที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา

จำนวนดังกล่าวถือว่าลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ที่ในปี 2525 ญี่ปุ่นมีสถิติการเกิดมากกว่า 1.5 ล้านคน และญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับอัตราการตายที่แซงหน้าอัตราการเกิดมานานกว่าทศวรรษแล้ว

นับเป็นปัญหาใหญ่ของผู้นำประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

นายกฯ สั่งเน้นนโยบายเลี้ยงดูบุตรสำคัญที่สุด

ขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นต้องเผชิญกับประชากรสูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นพร้อมกับจำนวนแรงงานในภาคธุรกิจที่ลดลง ส่งผลให้งบประมาณกองทุนบำนาญและการดูแลสุขภาพเนื่องจากความต้องการจากประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นจัดเก็บได้ลดลงไปด้วย 

ประชากรของญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เศรษฐกิจเฟื่องฟูในช่วงทศวรรษ 1980 หรือช่วงปี พ.ศ.2523 และอยู่ที่ 125.5 ล้านคนในปี 2564 ตามตัวเลขล่าสุดของรัฐบาล เมื่อเทียบอัตราการเกิดอยู่ที่ 1.3 ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ 2.1 เป็นอย่างมาก

ข้อมูลจากทางการญี่ปุ่นระบุว่า "ญี่ปุ่น" เป็น 1 ในประเทศที่มีประชากรอายุขัยสูงที่สุดในโลกอีกด้วย โดยในปี 2563 เกือบ 1 ใน 1,500 คนของชาวญี่ปุ่น จะมีผู้ที่อายุ 100 ปีขึ้นไป 

แนวโน้มที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ตอกย้ำถึงรัฐบาลของ ฟุมิโอะ คิชิดะ นายกฯ ญี่ปุ่น ที่สื่อว่า "ไม่สามารถรักษาหน้าที่ทางสังคมได้"

เมื่อคำนึงถึงภาพรวมเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
เราต้องให้การสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรเป็นนโยบายที่สำคัญที่สุด
และเราไม่สามารถรอได้อีกต่อไปแล้ว

คำกล่าวของนายกฯ ญี่ปุ่นที่พยายามมุ่งแก้แก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ต่ำจนเข้าขั้นวิกฤต นอกจากนี้ นายกฯ ญี่ปุ่นกล่าวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ต้องการให้รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายในโครงการที่เกี่ยวข้องกับเด็กเพิ่มเป็น 2 เท่า และต้องจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นก่อนเดือนเมษายน

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เงินเพียงอย่างเดียว

แต่การเพิ่มนโยบายการเงินด้านเดียวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากปัจจัยทางสังคมอีกหลายประการที่ส่งผลให้อัตราการเกิดยังต่ำอยู่ เช่น ค่าครองชีพที่สูงของญี่ปุ่น พื้นที่ที่จำกัด และการขาดการดูแลเด็กในเมือง ทำให้การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องยาก ส่งผลให้คู่รักมีลูกน้อยลง หรือคู่รักในเมือง ก็มักอยู่ห่างไกลจากครอบครัว ซึ่งทำให้ไม่มีคนช่วยเลี้ยงดูลูกหลานได้

ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ในประเทศที่มีค่าเลี้ยงดูบุตรแพงที่สุดในโลก จากการวิจัยของสถาบันการเงิน Jefferies ซึ่งดูขัดกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ถดถอยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530

ซึ่งหมายถึงรายรับที่ต่ำมากและมีรายจ่ายที่สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย

โดยรายได้เฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนที่แท้จริงลดลงจาก 6.59 ล้านเยน หรือราว 1.7 ล้านบาท ในปี 2538 เป็น 5.64 ล้านเยน หรือราว 1.4 ล้านบาท ในปี 2563 ตามข้อมูลในปี 2564 จากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ของญี่ปุ่น

โควิด-19 ทำคู่รักร้างลา

ทัศนคติต่อการแต่งงานและการเริ่มต้นสร้างครอบครัวของหนุ่มสาวญี่ปุ่นก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีคู่รักจำนวนมากขึ้นที่เลิกรากันระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 และคนหนุ่มสาวก็มีมุมมองกังวลต่ออนาคตมากขึ้น

ปัญหาอัตราการเกิดที่ต่ำลง ไม่ใช่แค่ ญี่ปุ่น ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่เพียงประเทศเดียวในเอเชีย แต่ "เกาหลีใต้" ซึ่งถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในโลก ก็พ่ายแพ้ให้กับความพยายามของประเทศในการเพิ่มจำนวนประชากรที่ลดลง ในขณะเดียวกัน จีนก็ใกล้จะสูญเสียตำแหน่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก อย่างเป็นทางการ ให้กับอินเดีย หลังจากที่จำนวนประชากรลดลงในปี 2565 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ

ที่มา : CNN

อ่านข่าวประชากรโลกเพิ่มเติม : 

จีนกำลังเสียแชมป์ประชากรเยอะที่สุดในโลก

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง