เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2566 ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศภาคธนาคาร เปิดเผยว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์สูงมากขึ้น โดยเฉพาะแรนซัมแวร์ (Ransomware) หรือ ขู่เรียกค่าไถ่ ยังเป็นการโจรกรรมอันดับหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่ง คือ การโจรกรรมผ่านดิจิทัล เพราะคนหันมาใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น ทำให้รูปแบบการโจรกรรมการเงินของมิจฉาชีพเปลี่ยนแปลงไป
จากเดิมจะล่อลวงให้ผู้บริโภคให้ข้อมูลสำคัญจากการใช้บริการ โมบาย แบงก์กิ้ง (Mobile Banking) หรือ อินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้ง (Internet Banking) ก่อนจะสวมรอยโอนเงินจากบัญชี
แต่ปัจจุบันมิจฉาชีพ จะหลอกให้ผู้บริโภคติดตั้งโปรแกรมมัลแวร์ลงในโทรศัพท์มือถือ เพื่อไปแฝงตัวอยู่ในแอปพลิเคชัน ซึ่งบริการดังกล่าว เรียกว่า Accessibility service ฟังก์ชันนี้จะใช้เพื่อให้สิทธิการเข้าถึงการใช้งาน เช่น กดปุ่มอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลหรือแอปฯ บนสมาร์ตโฟน ทำให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงและควบคุมการสั่งงานเครื่องแทนผู้ใช้งาน และยังพบว่า กลุ่มคนที่มักจะโดนล่อลวงมักจะอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด
นายกิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ผู้จัดการบริหารความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศและความปลอดภัยไซเบอร์ ธนาคารกรุงเทพ ยืนยันว่าขณะนี้ได้ร่วมกับหน่วยงานในอุตสากรรมการเงิน พัฒนาระบบแนวทางการป้องกันโจรกรรมข้อมูล โดยเฉพาะระบบจะตรวจจับการเข้าควบคุมหน้าจอสมาร์ตโฟนทั้งหมด
สำหรับการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน นายกิตติ ยืนยันว่าธนาคารจะพยายามเร่งรัดการตรวจสอบเพื่อลดผลกระทบให้ผู้บริโภคมากที่สุด พร้อมกับยังฝากเตือนผู้บริโภคหรือใช้งานสมาร์ตโฟน 8 พฤติกรรม เช่น การโหลดแอปพลิเคชันจากลิงก์ การคลิกลิงก์จาก Sms ที่ไม่รู้จัก การให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับมิจฉาชีพ ซึ่งรูปแบบของมิจฉาชีพจะอาศัยความเร่งรีบของผู้ใช้งาน ล่อลวงให้บอกข้อมูล
จึงอยากเตือนผู้บริโภค ไม่ให้ข้อมูลคนแปลกหน้า หรือ ดาวน์โหลดหรือติดตั้งโปรแกรมจากแหล่งที่ได้รับรองโดยผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการ