นับเป็นเวลา 20 ปีมาแล้ว กระสวยอวกาศโคลัมเบีย (Columbia) ยานอวกาศที่วิศวกรกล่าวขานว่าเป็นยานพาหนะที่มีความซับซ้อนสูงที่สุดในโลกได้ระเบิดออกเป็นเสี่ยง ๆ เหนือน่านฟ้าสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้พรากชีวิตนักบินอวกาศทั้ง 7 คนไปในพริบตา ท่ามกลางสักขีพยานนับพันคนที่กำลังเฝ้ารอคอยวีรชนผู้กล้ากลับลงมายังโลก
ก่อนที่ต่อมาผลการสอบสวนจากคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุกระสวยอวกาศโคลัมเบีย (Columbia Accident Investigation Board - CAIB) ได้เปิดเผยว่าตัวโฟมฉนวนกันความร้อนที่เคลือบถังเชื้อเพลิงด้านนอกหลุดออกมากกระทบกับเกราะกันความร้อนของกระสวยอวกาศโคลัมเบียขณะที่ทะยานขึ้นสู่อวกาศ จนเกิดความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญขึ้น เพราะฉะนั้นหลังจากที่ยานโคลัมเบียลดระดับลงสู่พื้นโลกเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจบนอวกาศเป็นเวลา 15 วันแล้ว อุณหภูมิที่สูงขึ้นจากการเสียดสีของชั้นบรรยากาศโลกก็ได้หลอมละลายโครงสร้างอะลูมิเนียมของตัวยานลงในที่สุด
เนื่องในวาระโอกาสครบรอบโศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศโคลัมเบีย 20 ปี พนักงานขององค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Aeronautics and Space Administration - NASA) มากกว่า 100 คนได้มารวมตัวกัน ณ ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) รัฐฟลอริดา เพื่อแสดงความไว้อาลัยและระลึกถึงนักบินอวกาศทั้ง 14 คน จากอุบัติเหตุกระสวยอวกาศโคลัมเบียในปี ค.ศ. 2003 และ กระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ (Challenger) ซึ่งเป็นกระสวยอวกาศอีกลำหนึ่งที่เกิดการระเบิดขึ้นขณะปล่อยตัวในปี ค.ศ. 1986
Bob Cabana หนึ่งในผู้บริหารของนาซา กล่าวว่า อุบัติเหตุของกระสวยอวกาศทั้ง 2 ครั้งนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ทั้งสิ้น หากนาซามีความละเอียดถี่ถ้วนในการตรวจสอบมากพอ ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่อยากพบเจออุบัติเหตุแบบที่เกิดขึ้นกับกระสวยอวกาศโคลัมเบียและกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์อีกแล้ว
ในปี ค.ศ. 2003 คณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุกระสวยอวกาศโคลัมเบีย เคยให้การว่า หากนาซารู้ว่าเกราะกันความร้อนได้รับความเสียหายในขณะนั้น ทางองค์การฯ ก็สามารถเตรียมกระสวยอวกาศอีกลำหนึ่งที่มีชื่อว่าแอตแลนติส (Atlantis) เดินทางขึ้นไปรับนักบินอวกาศให้กลับมายังโลกได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ทว่าภารกิจช่วยเหลือนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
ที่มาข้อมูล: PHYS.ORG , DW
ที่มาภาพ: AP , NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech