วันที่ 24 ม.ค.2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมชี้แนวทางการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
เพื่อจัดระบบและกำหนดแนวทางการให้บริการตามความสมัครใจโดยมีค่าใช้จ่าย ภายใต้กลไก Medical hub ซึ่งวัคซีนที่ให้บริการเป็นวัคซีนที่รัฐบาลจัดซื้อมาเท่านั้น ไม่ใช่วัคซีนได้รับบริจาค และให้ทุกจังหวัดคำนึงถึงปริมาณวัคซีนคงคลังเพื่อไม่กระทบกับการให้บริการประชาชนในประเทศ และจัดสรรวัคซีนให้แก่คนไทยเป็นลำดับแรก
สำหรับชาวต่างชาติที่มาพำนักระยะยาวในไทย อาทิ ทำธุรกิจ ทำงาน คณะทูตและสมาชิกครอบครัว ยังคงรับวัคซีนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตามความสมัครใจและตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
ดังนั้น ชาวต่างชาติที่นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวยังสามารถรับวัคซีนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและได้มีข้อสั่งการขอให้ทุกจังหวัดเปิดจุดบริการอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การให้บริการฉีดวัคซีนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะนำร่อง เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ใน กทม.เตรียมไว้ 2 จุด คือ ศูนย์การแพทย์บางรัก และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง นอกจากนี้ ยังเพิ่มจุดบริการใน จ.เชียงใหม่ จ.ชลบุรี และจ.สงขลา
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดร่วมเป็นจุดฉีดวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระยะนำร่อง รวม 5 แห่ง ได้แก่ สถาบันโรคผิวหนัง รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตนราชธานี และรพ.ประสาทเชียงใหม่ โดยมีสถาบันโรคผิวหนัง และ รพ.ราชวิถี เป็นจุดฉีดหลัก
ทั้งนี้ จะมีสถาบันโรคผิวหนังและโรงพยาบาลราชวิถีเป็นจุดฉีดหลัก เนื่องจากใกล้แหล่งพักอาศัยของนักท่องเที่ยวเดินทางสะดวก
รวมทั้งมีข้อสั่งการให้โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ทั่วประเทศ อีก 30 แห่งเป็นจุดบริการฉีดวัคซีนให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย
ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวชาวจีน เมียนมา และสหรัฐ รับบริการฉีดวัคซีนที่สถาบันโรคผิวหนัง รวม 21 คน
สำหรับอัตราค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แบ่งเป็น ค่าบริการวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มละ 800 บาท
ส่วนไฟเซอร์เข็มละ 1,000 บาท โดยมีค่าบริการทางการแพทย์อีก 380 บาท ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ขณะนี้เริ่มให้บริการแล้วในเมืองท่องเที่ยว ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.พัทยา และ จ.ภูเก็ต