ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผ่าขบวนการสวมตัวทำบัตรฟอกตัวเป็นไทย

สังคม
24 ม.ค. 66
13:14
4,098
Logo Thai PBS
ผ่าขบวนการสวมตัวทำบัตรฟอกตัวเป็นไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ผ่าขบวนการสวมตัวทำบัตรฟอกตัวเป็นไทย กรมการปกครองชี้มีสารพัดช่องทางทุจริตทางทะเบียน ดีเอสไอเผยจีน-อินเดีย เปย์หนักยอมควัก 1 ล้านบาทแลกหวังทำธุรกิจ

นายเส้า เสี่ยว ป้อ (Shao Xiaobo ) อายุ 54 ปี เป็นชาวจีนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2565 ที่อาคารให้เช่าแห่งหนึ่งย่านสุทธิสาร แจ้งข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและปลอมบัตรประชาชน หลังตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีสวมบัตรประชาชนปลอม

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพบว่า นายเส้า เสี่ยว ป้อ สวมบัตรประชาชนของคนไทย 2 ชื่อ คือ นายกฤต ธนกิตติพรรณและนายอิสมาแอ แมเง๊าะ และถือหนังสือเดินทางถึง3 สัญชาติ มีการเข้าออกในประเทศไทยแบบถูกต้องใช้หนังสือเดินทาง 2 เล่ม

การตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ของบุคคลต่างชาติที่เดินทางเข้า-ออกทางจังหวัดภาคใต้ จึงได้นำชื่อมาตรวจสอบเปรียบเทียบ ปรากฎขึ้นเป็นใบหน้าของบุคคลต่างชาติ 2 ชาติที่มีหมายจับทั้งยังใช้ชื่อซ้ำกับบุคคลอื่น

ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า การทำทุจริตทางทะเบียนและบัตรที่พบมาก มี 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนงานทะเบียนราษฎร และขั้นตอนงานบัตรประชาชน กรณีของนายเส้า เลี่ยว ป้อ ใช้วิธีการทุจริตในขั้นตอนงานทะเบียนราษฎร แอบอ้างสวมตัวใช้บุคคลอื่น ต้องตรวจสอบต่อว่า เป็นการใช้รายการบุคคลที่ตายไปแล้ว แต่ยังไม่ถูกจำหน่ายออกจากทะเบียนบ้าน หรือรายการที่ไม่มีความเคลื่อนไหวทางทะเบียนบ้านกลาง

สวมตัวทำบัตรปชช.ราคาพุ่งใบละ 1 ล้านบาท

พ.ต.ท.ชาญชัย ลิขิตคันทะสร ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เปิดเผยขั้นตอนขบวนการซื้อข้อมูลสวมตัวทำบัตรประชาชน ว่า
เงิน 5,000-10,000 บาท เป็นราคาขายข้อมูลของบุคคลที่ไม่มีการเคลื่อนไหวทางทะเบียน เป็นการจองซื้อข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนของกลุ่มนายหน้า เพื่อรอลูกค้าต่างด้าวในช่วงอายุและวัยตรงกับข้อมูล เพื่อเวลาสวมบัตรแล้วจะไม่พบความแตกต่าง ขั้นตอนดังกล่าวจะยังมีจ่ายเงินจริง จนกว่าการทำบัตรประชาชนจะเสร็จสิ้น

พ.ต.ท.ชาญชัย อธิบายว่า นายหน้าของแต่ละกลุ่มขบวนการฯที่รู้กัน เช่น แก๊งจีน อินเดีย ปากีสถาน ลาว จะเข้าไปเจาะเจ้าหน้าที่ในอำเภอ หรือสำนักงานเขตพื้นที่ ซึ่งเดือดร้อนทางการเงิน เมื่อรู้ว่าเป็นใครก็จะติดต่อเข้าไปซื้อข้อมูล โดยราคาข้อมูลของนายหน้าแต่ละกลุ่มจะไม่เท่ากัน 

จากการสืบขยายผลพบว่า การขายข้อมูลให้คนต่างด้าวเพื่อสวมตัวทำบัตรประชาชนไทย จะมี 2 สัญชาติหลัก คือ จีนกับอินเดีย กลุ่มคนจีนจะจ่ายให้กับกลุ่มนายหน้าชาวจีน โดยยอมจ่ายในราคาที่สูง บัตรประชาชนราคาอยู่ที่ใบละ 200,000-300,000 บาท

บางรายในกรณีที่เป็นนักธุรกิจยอมจ่ายในราคาใบละ1 ล้านบาท ขณะที่สวมบัตรประชาชนของชาวอินเดียและปากีสถาน ราคาอยู่ที่ใบละ 30,000-80,000 บาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับวิธีการทุจริตจะทำโดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขต หรือสำนักงานอำเภอจะเข้าไปดูข้อมูลหมายเลขบุคคลที่ไม่มีความเคลื่อนไหวทางทะเบียน และไม่เคยมีการทำบัตรประชาชนมาก่อน เช่น คนพิการ คนตาย บุคคลที่ย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ การย้ายบุคคลจากทางทะเบียนบ้านกลาง ข้อมูลนี้นายหน้าจ่ายให้เจ้าหน้าที่ครั้งละ 10,000 บาท

พ.ต.ท.ชาญชัย ตั้งข้อสังเกตว่า การสวมบัตรฯจะอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายในประเด็นที่บุคคลนั้นไม่มีการทำบัตรมาก่อน ไม่มีการเคลื่อนไหวทางทะเบียน เป็นการทำบัตรครั้งแรก หากเจ้าหน้าที่และกลุ่มนายหน้ารู้กัน ก็จะไม่มีการตรวจสอบความผิดปกติ เพราะบุคคลที่ทำบัตรประชาชนครั้งแรกจะมีอายุตั้งแต่ 20 -60 ปี

ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบภาพย้อนหลังเพื่อเปรียบเทียบภาพใบหน้าได้ เมื่อผู้สวมบัตร"รู้กัน"กับเจ้าหน้าที่ก็จะทำให้คนต่างด้าวได้บัตรประชาชน และเขาก็จะกลายเป็นคนไทยถูกต้องตามกฎหมายภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง

ล็อคขายชื่อไม่เคลื่อนไหวทะเบียนบ้านกลาง

ขณะที่การสวมตัวทำบัตร หรือการฟอกตัวสวมบัตร ให้คนต่างด้าวนั้น แหล่งข่าวจากกรมการปกครองระบุว่า ทำได้หลายวิธี แต่ช่องทางหนึ่งที่แก๊งนายหน้าและเจ้าหน้าที่มักใช้กัน คือ การสวมชื่อของผู้ที่อยู่ในทะเบียนบ้านกลางที่สำนักทะเบียนจัดทำขึ้น เพื่อลงรายการผู้ที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านด้วยเหตุต่าง ๆ

เช่น เจ้าบ้านแจ้งย้ายบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านของตนเองแต่ไม่มีตัวตนออกจากทะเบียนบ้าน หรือกรณีที่เจ้าบ้านซื้อบ้านต่อจากผู้อื่นแล้วย้ายชื่อที่ค้างออกจากทะเบียนบ้าน คนไทยที่พักอาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานาน ไม่มีบ้านในประเทศไทยแล้ว และไม่มีการเคลื่อนไหวทางทะเบียนมานาน สำนักงานเขต เทศบาล หรือแต่อำเภอจะนำรายชื่อของบุคคลกลุ่มนี้เข้าไปยังทะเบียนบ้านกลาง เพื่อป้องกันไม่ให้นำเอาข้อมูลกลุ่มนี้ไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ

แหล่งข่าวจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ทะเบียนบ้านกลางมีความสำคัญมากเพราะการที่จะเอารายชื่อของบุคคลใดเข้าทะเบียนบ้านกลาง ต้องมีการสอบสวนกับสำนักทะเบียน หรือเป็นช่วงเวลาที่มีการสำรวจกับเจ้าบ้าน หรือย้ายเข้าออกได้เลย

พ.ต.ท.ชาญชัย ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่ต้องใช้ข้อมูลของบุคคลที่ไม่มีการเคลื่อนไหวในทะเบียนบ้านกลางมาสวมตัวเพื่อทำบัตร เนื่องจากคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยทำบัตรประชาชนมาก่อน แม้ว่าจะเกิดในประเทศ ไทย เนื่องจากตามพ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนกำหนดเลข 13 หลัก พ.ศ 2526 ระบุว่า ให้ผู้ที่เกิดก่อนปี 2527 ต้องใช้เลขหน้าเป็นเลข 3

แต่หลังจากปี 2527 เป็นต้นไป ผู้ที่ไม่ได้แจ้งเกิดเกินกำหนด เลขหน้าบัตรประชาชนจะเป็นเลข 1 และในกรณีที่แจ้งเกิดเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเลขบัตรประชาชนจะเป็นเลข 2 ซึ่งกรมการปกครองได้ทำการสำรวจสำมะโนประชากรเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2526

แหล่งข่าวระบุว่า ตามปกติหากใครหรือหน่วยงานใดจะเข้าไปตรวจสอบขอดูข้อมูลบุคคลที่ไม่เคยทำบัตรมาก่อนสามารถทำได้ โดยระบบจะทำการบันทึกข้อมูลรายชื่อทั้งหมดไว้

ข้อพิรุธที่ชี้ให้เห็นความผิดปกติคือ ระบบจะบันทึกรายชื่อเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ทั้งส่วนกลางและในพื้นที่บางคนที่เข้ามาดูรายชื่อบุคคล ที่ไม่เคยทำบัตรประชาชนมาก่อนบ่อยครั้ง ซ้ำๆและต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังพบสมุดข้อมูลบุคคลที่ไม่เคยทำบัตรและไม่เคยมีการเคลื่อนไหวทางทะเบียน เขียนข้อความว่า ได้จำหน่ายข้อมูลของบุคคลนี้ไปแล้ว จากการสืบสวนไล่ดูข้อมูลย้อนหลังพบว่า มีเจ้าหน้าที่ได้ล็อครายชื่อบุคคลเพื่อนำข้อมูลไปขายให้กับผู้ที่ไม่เคยทำบัตรมาก่อน และพบความเชื่อมโยงว่าขบวนการนี้มีเจ้าหน้าที่กรมการปกครองส่วนกลางและในระดับพื้นที่เข้าไปเกี่ยวข้อง

เปิดสารพัดช่องทางทุจริตบัตรประชาชน

ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สำนักงานทะเบียนราษฎรในอำเภอแห่งหนึ่ง จ.กาญจนบุรี ระบุว่า เขตพื้นที่อำเภอห่างไกลและ เขตรอยต่อติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อ.สังขละบุรี อ.บ่อพลอย อ.ไทรโยค อ.พนมทวน อ.เมืองฯลฯ มีการเข้า-ออกของบุคคลต่างด้าวทั้งถูกและผิดกฎหมาย

พื้นที่ดังกล่าวมีขบวนการนายหน้า เครือข่ายใหญ่รับสวมบัตรให้คนต่างด้าว โดยมีข้าราชการฝ่ายปกครองในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ระดับอำเภออยู่ในขบวนการ ที่ผ่านมาแม้เจ้าหน้าที่ร่วมทุจริตจะถูกไล่ออกจากราชการ

แต่หลังจากนั้นเขาก็จะผันตัวมาเป็นหัวหน้าแก๊งรับสวมบัตรฯโดยอดีตข้าราชการคนนี้จะอาศัยช่องทางที่รู้จักเจาะเข้าไปหาข้าราชการในอำเภอที่ร้อนเงินให้ร่วมมือด้วย อาจจ่ายให้ขั้นต่ำครั้ง10,000 บาท แทบทุกจังหวัดจะมีปัญหาลักษณะนี้ แต่ไม่ได้หมายว่าจะมีปัญหาทุกอำเภอ

แหล่งข่าวจากกรมการปกครอง ให้ข้อมูลว่า กระบวนการทุจริตจะมี 2 ขั้นตอน คือ งานทะเบียนราษฎร และงานบัตรประชาชน โดยขั้นตอนทะเบียนราษฎรจะทำได้ในช่องทางการขอเพิ่มชื่อและรายบุคคลเข้าไปในทะเบียนบ้าน เช่น กรณีรายชื่อตกสำรวจ อ้างเป็นคนสัญชาติไทย แต่ใช้สูติบัตร ใบแจ้งย้ายที่อยู่ปลอม หรืออ้างตัวเป็นคนสัญชาติไทย แต่ไม่มีเอกสารหลักฐานมาแสดง

นอกจากนี้ยังพบว่า มีการแอบอ้างสวมตัวเป็นคนที่ตายไปแล้ว แต่รายชื่อยังไม่ถูกจำหน่ายออกจากทะเบียนบ้าน ส่วนทุจริตงานบัตรประชาชน เช่น ใช้รายการบุคคลอื่นขอมีบัตร ขอมีบัตรครั้งแรกต่างท้องที่ ใช้ชื่อบุคคลอื่นของมีบัตรโดยอ้างบัตรเดิมหาย หรือการสับเปลี่ยนสวมตัวกับเจ้าของรายการบุคคลในขั้นตอนถ่ายรูป

เปิดช่วงนาทีทองสวมบัตรประชาชน

พ.ต.ท.ชาญชัย กล่าว กล่าวว่า ขั้นตอนทั้งหมดปลัดอำเภอในแต่ละพื้นที่จะทราบหรือไม่ ไม่มีใครทราบ เป็นไปได้ว่าบางพื้นที่ปลัดอำเภอจะไม่ทราบ เนื่องจากงานในหน้าที่ของปลัดฯมีเยอะ ตัวเขาอาจไม่อยู่ จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่ไว้วางใจ เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวโดยให้เปิดใช้รหัสของตนเองเพื่อบริการประชาชน จึงเป็นช่องว่าง

แหล่งข่าวระบุว่า สำหรับช่วงเวลาเจ้าหน้าที่ลักลอบทุจริตทำบัตรประชาชน หรือเพิ่มชื่อที่ไม่ถูกต้องจะมี 2 ช่วงเวลาคือตอนเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ 8.00 น.ไม่เกิน 9.00 น.เนื่องจากเป็นจังหวะที่คนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆยังไม่มา เจ้าหน้าที่จะใช้ช่วงเวลานี้เร่งทำให้เสร็จโดยเร็ว อีกครั้งเป็นช่วงพักเที่ยงตั้งแต่เวลา12.00-13.00 น. ไม่มีใครอยู่เนื่องจากพักรับประทานอาหาร

ทั้งนี้ เรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตรูปแบบใดล้วนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศในระยะยาว และสะท้อนความล้มเหลวของระบบราชการ ทั้งสิ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รายงานพิเศษ : อุ้มท้องซื้อพ่อ-ฟอกลูกจีนเป็นไทย

ส่อง GEN ใหม่เยาวราช จีนเก่าย้าย-ทุนจีนใหม่รุกคืบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง